ดร.พิเชฐ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้จัดกิจกรรมช่วงปิดเทอมไว้ในหลายส่วน เริ่มจากนิทรรศการ “วิทยาศาสตร์แสนสนุก” (Fun Science : NSM KidsZone) ที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) พัฒนาขึ้น สำหรับเด็กปฐมวัย ตั้งแต่ช่วงอายุ 3 – 10 ปี โดยจัดทำนิทรรศการให้เหมือนสถานการณ์ที่พบเห็นจริงในชีวิตประจำวัน ให้เด็ก ๆ ได้เข้าใจว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ไม่ใช่เรื่องไกลตัว หรือยากที่จะเข้าใจ นอกจากนี้ยังสร้างความสนุกสนาน และสร้างทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ส่งผลให้เด็กเกิดแรงบันดาลใจ เกิดความรักที่จะเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในระดับสูงต่อไป
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมของ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ที่มีการจัดกิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง ปิดเทอมนี้ก็เช่นกัน สดร.จัดค่าย “เยาวชนคนดูดาวและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม” ณ ศูนย์บริการสารสนเทศและฝึกอบรมทางดาราศาสตร์ จ.เชียงใหม่ ค่าย “ดาราศาสตร์สัญจร” และกิจกรรม “เปิดฟ้าตามหาดาว” ซึ่งจะจัดขึ้นที่ หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน จ.ฉะเชิงเทรา และที่ หอดูดาวสิรินธร
จ.เชียงใหม่ โครงการอบรมนักดาราศาสตร์สมัครเล่น หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา เช่นเดียวกับ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ที่จัดกิจกรรมการสร้างเครือข่ายเยาวชนรักอะตอม เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกเกี่ยวกับพลังงานปรมาณูและการกำกับดูแลความปลอดภัย รวมทั้งสร้างเครือข่ายในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้ดังกล่าวต่อไปในอนาคต จัดที่ จ.นครพนม และ จ.เชียงใหม่ ด้านสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ต้อนรับปีแห่งแสงสากลด้วยกิจกรรมแสงและการมองเห็นกับสิ่งที่อยู่รอบตัว นักสืบเรืองแสง และกิจกรรมที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น รับรู้ภัยพิบัติทางธรรมชาติและสร้างสวนเคมีโดยจะจัดขึ้นที่บ้านวิทยาศาสตร์ สิรินธร ภายใน สวทช. จ.ปทุมธานี ส่วนสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จัดค่ายวิชาการ โครงการถ่ายทอดความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเยาวชน : การใช้ประโยชน์เชิงอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่สะแกราช เพื่อให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่เยาวชน เพิ่มพูนขีดความรู้ความสามารถและทัศนคติที่ดีต่อการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ฯ ณ สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จ.นครรราชสีมา
นอกจากนี้ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (สซ.) ยังมีค่ายวิทยาศาสตร์นิวตรอนและแสงซินโครตรอนระดับอาเซียน โดยเปิดโอกาสให้เยาวชน 10 ประเทศ ได้ร่วมสัมผัสเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนแห่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เรียนรู้เทคนิคการประยุกต์ใช้นิวตรอนและแสงซินโครตรอนที่เกี่ยวข้องต่อการวิเคราะห์เกี่ยวกับทางด้านวิทยาศาสตร์ และสร้างเครือข่ายวิจัยให้กับเยาวชน พร้อมเปิดรับสังคมอาเซียนในปีนี้
ทั้งนี้ นอกจากจะจัดกิจกรรมเพื่อเด็กและเยาวชนแล้ว ครูซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างแรงบันดาลให้กับเด็กหันมาสนใจและรักการเรียนวิทยาศาสตร์ได้ สซ. ยังได้มีการจัดค่ายซินโครตรอนเพื่อครูวิทยาศาสตร์ หวังยกระดับครูไทยสัมผัสเทคโนโลยีแสงขั้นสูง ขยายฐานความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน ให้กับครูที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะได้รับความรู้จากนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับประเทศ อีกทั้งได้ลงมือ ทำการทดลองปฏิบัติงานวิจัยจริงกับนักวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการแสงสยาม เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ทั้งหมดถ่ายทอดสู่เยาวชนของประเทศให้ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ต่อไป ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดของกิจกรรมต่าง ๆ ได้ทาง Call Center 1313 หรือสายด่วนกลุ่มงานประชาสัมพันธ์กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ 02-333-3728 และที่ www.most.go.th
รายละเอียดของกิจกรรมมีดังนี้
- ค่ายวิทยาศาสตร์ฤดูร้อน 2558 กระทรวงวิทยาศาสตร์
- แหล่งเรียนรู้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
ข่าวโดย : ทีมโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ผู้ประสานงาน : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@most.go.th
ที่มา: http://www.thaigov.go.th