ผอ.TCELS กล่าวว่า การเข้าร่วมงาน ไบโอเอเซียครั้งนี้ ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะนอกจากได้รับทราบถึงสถานการณ์การพัฒนาผลิตยาสามัญ และยาสามัญใหม่ ชีววัตถุ และงานบริการทางการแพทย์ การพัฒนางานวิจัยในระดับคลินิกในมุมเชิงลึก และด้านการเปรียบเทียบของประเทศอินเดียแล้ว บูธนิทรรศการของประเทศไทยยังได้รับความสนใจสูงสุด จากจำนวนผู้เข้าร่วมจัดนิทรรศการ 50 บูธ โดยมีผู้เข้าชมและสอบถามข้อมูลที่ Thailand Pavilion กว่า 500 คน ประกอบด้วย นักธุรกิจ นักลงทุน ตลอดจนสื่อมวลชนด้วย ตื่นเต้นกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสารสกัดธรรมชาติ ความร่วมมือวิจัยกับภาคเอกชนไทยด้านยาและการทดสอบในคน โครงการจีโนมทางการแพทย์ และการขึ้นทะเบียนยาในประเทศไทย โดยสื่อมวลชนนำเสนอข่าวอย่างคึกคักต่อเนื่อง นำไปสู่การเจรจาธุรกิจและความร่วมมือกว่า 20 ราย นอกจากนี้ยังมีการลงนามความร่วมมือระหว่าง TCELS กับ สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งเอเชีย (The Federation of Asian Biotechnology Association) หรือ FABA ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของรัฐเตลังกานา โดยความร่วมมือดังกล่าว FABA รับที่จะนำภาครัฐและเอกชน ตลอดจนนักธุรกิจ นักลงทุนจากประเทศอินเดีย เข้าร่วมงาน Thailand Lab 2015 ที่จะจัดขึ้นที่ประเทศไทย ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายของความร่วมมือที่ดีในอนาคต
ดร.นเรศ กล่าวว่า หนึ่งในพันธกิจหลักของ TCELS คือ เป็นผู้ประสานงานและพัฒนาความร่วมมือด้านชีววิทยาศาสตร์กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ ที่เน้นย้ำถึงความร่วมมือกับต่างประเทศ ทั้งในระดับประเทศ กลุ่มประเทศ และกลุ่มประเทศในภูมิภาค การนำเสนอผลงานด้านชีววิทยาศาสตร์ของ TCELS และเครือข่ายพันธมิตร จึงเป็นบทบาทที่ TCELS ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและขยายผลไปสู่ความร่วมมือทางธุรกิจ และขยายเครือข่ายความร่วมมือได้อย่างกว้างขวาง
ข้อมูลจาก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์
สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@most.go.th
ที่มา: http://www.thaigov.go.th