พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดโครงการสัมมนาผู้นำแรงงานสัมพันธ์ขั้นสูง รุ่นที่ 2 ณ โรงแรมซันธารา เวลเนส รีสอร์ท จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมกล่าวปาฐกถา เรื่อง ‘ลูกจ้าง นายจ้าง เอื้ออาทร ร่วมแบ่งบันสร้างสรรค์สังคมไทย’ ว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งถือเป็นหุ้นส่วนที่ต้องทำงานร่วมกัน เป็นกลุ่มที่ต้องการกันและกัน ดังนั้น การให้นายจ้างและลูกจ้างได้เจรจาพูดคุยกันในเบื้องต้นเพื่อลดความขัดแย้งจนนำไปสู่การเผชิญหน้ากระทั่งนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดผลดีทั้งสองฝ่าย เกิดการประท้วง การปิดกิจการได้ สุดท้ายความขัดแย้งทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องเสียทั้งคู่
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า การมองไปข้างหน้าจากวันนี้สำคัญกว่าสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน เพราะข้างหน้าไม่เพียงแต่สหภาพ นายจ้าง ลูกจ้าง แต่ยังเกี่ยวกับสภาวะของสังคมรอบข้าง อาทิ ลาว กัมพูชา กำลังมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเพื่อพยายามดึงคนงานกลับ ถ้านายจ้าง ลูกจ้างรู้สึกว่าเราเป็นผู้ที่สำคัญต่อกันและกัน จะสามารถนำพาไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ ฝ่ายนายจ้างก็ได้กำไร ลูกจ้างก็อยู่ดีมีสุข ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็ต้องดูแลไม่ให้ใครก็ตามที่จะบั่นทอนกระบวนการแห่งความเอื้ออาทรร่วมกันระหว่างนายจ้างลูกจ้างบิดเบือนไปจากสิ่งที่ควรจะเป็นถือว่าเป็นกลุ่มคนที่เป็นภัยสังคมจึงถือเป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงที่จะเข้าไปจัดการให้เกิดความสงบเรียบร้อย
"ขอให้เชื่อมั่นว่าหากสิ่งใดเป็นความไม่สบายใจของนายจ้าง ลูกจ้าง กระทรวงแรงงานยินดีรับฟังและพร้อมจะปรับปรุงไปสู่อนาคตที่ดีที่สุด เราคงจะอยู่อย่างเดิมไม่ได้ ทะเลาะกันแบบเดิมไม่ได้ เพราะเวลาไม่คอยเรา วันนี้ทุกประเทศต่างเตรียมตัวไปสู่อนาคต เราจะมองแค่เพื่อนบ้านซึ่งเราคิดว่าเรานำเขาอยู่ไม่ได้ เพราะต่อไปอาเซียนไม่ได้อยู่แค่อาเซียน โลกจะไร้พรหมแดน คนไทยคงต้องกลับมาคิดว่า 'โลกไร้พรมแดนแต่ คนไทยต้องไม่ไร้แผ่นดิน' อย่างไรก็ตาม นายจ้างก็ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะทำการละเมิดหรือลิดรอนสิทธิประโยชน์ของแรงงานเพราะต้องตระหนักว่า เพราะมีแรงงานถึงทำให้ธุรกิจของผู้ประกอบการ นายจ้างอยู่ได้ สำหรับลูกจ้างก็เช่นเดียวกันอะไรที่จะทำเกินหรือนอกกรอบทำให้บริษัท สถานประกอบการ นายจ้างเสียหายก็ควรละเว้น โดยต้องยึดถือความเป็นไทยรักสมานสามัคคีเป็นที่ตั้ง" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
ทั้งนี้ “แรงงาน” เป็นปัจจัยหนึ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งของกระบวนการผลิตและเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาในทุกระดับโดยในส่วนย่อยของระบบเศรษฐกิจ คือ แรงงานในภาคการผลิตซึ่งอยู่ในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และงานบริการ ทั้งนี้ หากผู้นำแรงงาน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนขบวนการแรงงาน มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะและศักยภาพสูง ก็จะส่งผลให้ประสิทธิภาพของการผลิตมีมากขึ้น และส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ
ดังนั้น การสัมมนาในวันนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่มีความสำคัญในการผลักดันและพัฒนาความรู้ความสามารถ ทักษะ และศักยภาพของผู้นำแรงงาน ในการช่วยกันสร้างสันติสุขให้เกิดแก่วงการแรงงานของประเทศ ซึ่งในการดำเนินการจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
สำหรับโครงการสัมมนาผู้นำแรงงานสัมพันธ์ขั้นสูง รุ่นที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในรูปแบบเครือข่ายแรงงานสัมพันธ์ ระหว่างผู้นำฝ่ายลูกจ้าง – ฝ่ายนายจ้าง และเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ตลอดจนการสร้างความรู้ความเข้าใจให้เครือข่ายแรงงานสัมพันธ์มีวิธีคิดแบบมีส่วนร่วมเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วยลูกจ้าง นายจ้าง และข้าราชการ ในจังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สมุทรปราการ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการแรงงานสัมพันธ์ภาคเหนือ จังหวัดลำพูน และศูนย์ปฏิบัติการแรงงานสัมพันธ์ภาคกลาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
“กระทรวงแรงงาน “บริการด้วยใจ เพื่อคนไทยมีงานทำ”
ที่มา: http://www.thaigov.go.th