รัฐบาลมุ่งมั่นส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศหญิง-ชายอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ

ข่าวทั่วไป Friday March 6, 2015 13:39 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันสตรีสากล ประจำปี 2558 และกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "2 ทศวรรษปฏิญญาปักกิ่งฯ : เสริมพลังสตรี สร้างพลังสังคม" ย้ำรัฐบาลมุ่งมั่นส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศหญิง-ชายอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ

วันนี้ (6 มี.ค.58) เวลา 14.30 น. ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์ บอลรูม อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันสตรีสากล ประจำปี 2558 และกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "2 ทศวรรษปฏิญญาปักกิ่งฯ : เสริมพลังสตรี สร้างพลังสังคม" พร้อมรับมอบข้อเสนอสมัชชาสตรีแห่งชาติ ประจำปี 2558 จากผู้แทนสมัชชาสตรี 4 ภาค (ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้) จัดโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับและเสริมศักยภาพสตรีในทุกมิติ โดยนำศักยภาพและความแตกต่างระหว่างหญิงชายมาใช้อย่างสร้างสรรค์ สร้างความตระหนักต่อสังคมในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย และเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมต่าง ๆ เพื่อพัฒนาและขยายศักยภาพบทบาทสตรีให้เป็นพลังทางสังคมที่เข้มแข็งและได้รับประโยชน์ จากการพัฒนาที่เท่าเทียมกันอย่างแท้จริง บนพื้นฐานของความเสมอภาค เท่าเทียม และเป็นธรรมอย่างยั่งยืน โดยมี พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ ผู้บริหารระดับสูงของส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ผู้แทนสตรีจากทุกภาคส่วนทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน ประมาณ 600 คน เข้าร่วมงาน

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีที่ได้มีโอกาสมาพบกับทุกคนในงานวันสตรีสากล ประจำปี 2558 ซึ่งจัดขึ้นเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติสตรี บุคคล หน่วยงานและองค์กรทั้งหลายที่ปฏิบัติงานด้านการพัฒนาศักยภาพสตรี การส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย และการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิสตรี ตลอดจนร่วมเฉลิมฉลองวันสตรีสากล เพื่อระลึกถึงการต่อสู้ของสตรีที่ให้ได้มาซึ่งความเสมอภาค การพัฒนา และสันติภาพในวันนี้

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงเหตุผลความจำเป็นที่เข้ามาบริหารประเทศทุกคนทราบดี โดยเน้นย้ำว่า ต้องการที่จะนำพาทุกคนและทุกฝ่ายร่วมมือกันในการขับเคลื่อนประเทศชาติและสร้างสรรค์ประเทศชาติเพื่ออนาคต เพราะฉะนั้นทุกคนต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน สำหรับในเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศนั้น ขณะนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ผ่าน พ.ร.บ. ความเท่าเทียมทางเพศและอยู่ระหว่างประกาศใช้เป็นกฎหมาย ภายหลังจากที่ได้มีความพยายามเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวมาหลายครั้ง ทั้งนี้ยืนยันสิ่งใดที่สามารถดำเนินการได้ก็จะเร่งดำเนินการให้ได้ภายในรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดย พ.ร.บ. ดังกล่าวน่าจะมีส่วนช่วยเสริมความพยายามในการผลักดันให้สตรีมีโอกาสและความเท่าเทียมกับบุรุษเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและส่งผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่พิเศษ เพราะปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการที่เกิดขึ้นจากการประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องสตรี ครั้งที่ 4 เมื่อปี 2538 จะครบรอบ 20 ปีในปีนี้ โดยสัปดาห์หน้า คณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี สหประชาชาติ จะจัดการประชุมสมัยที่ 59 ที่นครนิวยอร์ก เพื่อทบทวนความคืบหน้าและความท้าทายในการดำเนินการตามเป้าหมายของปฏิญญาดังกล่าว ขณะเดียวกันการประชุมครั้งนี้คาดว่าจะมีการหารือชี้แจงในประเด็นต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเพราะมีความเกี่ยวพันเรื่องของการค้ามนุษย์ แรงงานต่างด้าว ตลอดจนเรื่องการทำหน้าที่ของสตรีในทุกมิติ ทั้งด้านการบริหาร การปกครอง กฎหมาย

นอกจากนี้ ปีนี้ จะครบรอบ 15 ปีหลังจากที่มีการตกลงเรื่องเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ โดยผู้นำทั่วโลกจะตกลงกันในเดือนกันยายนปีนี้ที่นครนิวยอร์ก ถึงวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 ซึ่งการหารือเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนก็ได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับความเท่าเทียมทางเพศและการพัฒนาศักยภาพสตรี อย่างไรก็ตามหลังปี ค.ศ. 2015 จะมีหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิสัยทัศน์ของประชาคม การเปลี่ยนแปลงของโลก กติกา และสัญญาต่าง ๆ เพราะฉะนั้นจะต้องมีการวางแผนในอนาคตเกี่ยวกับการดำเนินการต่าง ๆ ดังกล่าวให้ชัดเจน โดยขณะนี้รัฐบาลได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ประเทศว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 – 2020 ประเทศชาติจะต้องมีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ซึ่งตรงนี้ก็ฝากให้สตรีและบุรุษได้ช่วยนำไปคิดต่อว่าหลังจากปี ค.ศ. 2015 จะมีแนวทางดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับสตรี ทั้งเรื่องการยกระดับรายได้ และอาชีพให้มีความเท่าเทียม เป็นต้น

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยมีการจัดกิจกรรมวันสตรีสากลเป็นประจำทุกปี โดยให้ความสำคัญกับเรื่อง “สตรี” ในการส่งเสริมบทบาทและสถานภาพของสตรี ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย เพื่อให้สตรีได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในทุกบริบทของสังคม ตามที่ไทยได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ระบุไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ รวมทั้งปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการเพื่อความก้าวหน้าของสตรี ซึ่งประเทศไทยร่วมรับรอง

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้พยายามดำเนินการทุกอย่าง ทั้งเรื่องความยากจน การศึกษา สุขภาพ ความรุนแรง เศรษฐกิจ การมีส่วนร่วมการตัดสินใจมาบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันคือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 อย่างไรก็ตามหากต้องการจะพัฒนาสตรีต่อไป ทุกคนต้องร่วมกันคิดร่วมกันทำต่อในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ว่าสตรีจะมีบทบาทตรงไหน อย่างไร โดยคำนึงและให้ความสำคัญกับสัดส่วนบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงและผู้ชายเป็นไปอย่างเหมาะสม ซึ่งการให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องในระดับนโยบายที่ผ่านมาได้ส่งผลให้ พัฒนาการในด้านต่างๆโดยรวมที่ดีขึ้น ผู้หญิงไทยในปัจจุบันมีทั้งที่ดำรงตำแหน่งผู้นำ และตำแหน่งสำคัญในองค์กรต่างๆ ผู้หญิงมีบทบาทและมีส่วนร่วมที่สร้างสรรค์ในหลายภาคส่วนของสังคม และผู้หญิงได้รับการสนับสนุนให้มีโอกาสต่างๆ ที่เท่าเทียมมากขึ้นในระดับเป็นที่น่าพอใจในหลาย ๆ ด้าน เช่น ด้านการศึกษา ไทยประสบความสำเร็จโดยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษในการกำจัดความไม่เท่าเทียมระหว่างเด็กหญิงและเด็กชายในการเข้าถึงการศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องการศึกษามากไปกว่านั้น รัฐบาลมุ่งพัฒนาคุณภาพของการศึกษาที่เด็กไทยทั้งเด็กหญิงและเด็กชายได้รับด้วย โดยการปฏิรูปการศึกษาเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลชุดนี้

ด้านสุขภาพ ปัจจุบันคนไทยมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยผู้หญิงมีแนวโน้มอายุยืนกว่าผู้ชาย จากการที่ไทยมีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปัจจุบันประชาชนคนไทยเข้าถึงบริการการรักษาพยาบาลสูงถึงร้อยละ 98.4 โดยโครงการสุขภาพต่างๆ ได้รับการสนับสนุนให้มีบริการสำหรับผู้หญิงเป็นการเฉพานอกจากการเข้าถึงรัฐบาลยังมุ่งพัฒนาคุณภาพ อีกทั้งให้ความสำคัญกับส่งเสริมบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง ซึ่งรวมถึงคนหลากหลายกลุ่ม และแรงงานต่างด้าว

นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมให้มีกลไกส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย และพัฒนาสถานภาพและบทบาทของสตรี โดยมีสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เป็นหน่วยงานหลักระดับชาติที่ดูแลด้านสตรี นอกจากนั้น ได้มีการแต่งตั้งผู้บริหารด้านการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย (CGEO) และมีศูนย์ประสานงานด้านการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย (GFP) ในหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้แน่ใจว่าหน่วยงานต่างๆ ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ อีกทั้งทำหน้าที่คุ้มครองดูแลสตรีจากการถูกเลือกปฏิบัติ

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงประวัติศาสตร์ชาติไทยในทุกยุคทุกสมัยว่า สตรีไทยมีบทบาทสำคัญในการร่วมนำพาประเทศชาติให้หลุดพ้นจากวิกฤติด้วยความเข้มแข็ง เสียสละและกล้าหาญ เคียงบ่าเคียงไหล่ผู้ชาย เช่น ท้าวเทพกระษัตรี (คุณหญิงมุก) ท้าวสุรนารี (คุณหญิงโม) ฯลฯ ปัจจุบันสตรีไทยยังคงมีบทบาทที่สำคัญสร้างสรรค์สังคมและมีส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาล มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และการพัฒนาศักยภาพสตรีต่อไป โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันตระหนักและเห็นคุณค่าและความสำคัญของสตรีเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของหญิงและชายอย่างเท่าเทียม

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องที่ร่วมกันจัดงานนี้ขึ้นเพื่อให้กำลังใจสตรีไทยและยืนยันถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่มีต่อสตรีไทย พร้อมกล่าวกล่าวแสดงความยินดีและชื่นชมผู้ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ ซึ่งเป็นตัวแทนของสตรีจากทุกภาคส่วนทั้งจากหน่วยงานองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรสตรี เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและยกย่องเชิดชูเกียรติ สตรี บุคคลและองค์กรดังกล่าว ที่มีผลงานดีเด่นในด้านการพัฒนาศักยภาพสตรี การส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรี และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล ประจำปี 2558

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ