วันนี้ (9 มี.ค. 58) เวลา 13.30 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับมอบรางวัลพิเศษ KIPA Award ประจำปี 2557 จากสมาคมส่งเสริมการประดิษฐ์สาธารณรัฐเกาหลี (KIPA – Korea Invention Promotion Association) ในฐานะบุคคลที่ส่งเสริมยุทธศาสตร์และนโยบายการวิจัยแห่งชาติ รวมทั้ง การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในไทย และในฐานะที่รัฐบาลไทยส่งเสริมงานประดิษฐ์เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน
โดยนาย Cho Un-young ประธานสมาคมส่งเสริมการประดิษฐ์สาธารณรัฐเกาหลี (KIPA) ได้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อมอบรางวัลพิเศษนี้ ให้แก่นายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง ซึ่ง KIPA Award นี้เป็นรางวัลพิเศษที่มอบให้แก่บุคคลที่มีบทบาทในการส่งเสริมการประดิษฐ์คิดค้น การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ตลอดจน การนำสิ่งประดิษฐ์ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ การคุ้มครองผลงานการประดิษฐ์
สำหรับสาระสำคัญในการหารือ ร้อยเอก ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปดังนี้
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณนาย Cho Un-young สำหรับรางวัลพิเศษ (Special Prize) ประจำปี 2557 ที่สมาคมฯ มอบให้ในครั้งนี้ และยืนยันนโยบายที่จะสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา (R&D) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไป เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และสังคมไทย
รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการวิจัย การพัฒนาต่อยอด และการสร้างนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การผลิตและบริการที่ทันสมัย เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศ พร้อมกับชื่นชมสาธารณรัฐเกาหลีที่มีศักยภาพสูงด้านการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทันสมัย และสามารถสนับสนุนช่วยเหลือไทยและภูมิภาคเอเชียและอาเซียนให้มีความเข้มแข็งได้
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กล่าว ขอบคุณ KIPA ที่เปิดโอกาสให้แก่นักประดิษฐ์ไทย โดยเฉพาะเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ได้แสดงความรู้ความสามารถต่อสาธารณชนในการนำผลงานไปแสดงในงาน Seoul International Invention Fair (SIIF) ที่สาธารณรัฐเกาหลี อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากได้แสดงผลงานวิจัยและผลงานประดิษฐ์อันเป็นความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้ประจักษ์ต่อชาวโลกแล้ว ยังเป็นโอกาสดีที่นักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักประดิษฐ์ชาติต่างๆ ตลอดจนได้พบปะกับนักธุรกิจ นักลงทุนผู้สนใจซื้อผลิตภัณฑ์จากสิ่งประดิษฐ์อีกทางหนึ่งด้วย
พร้อมกันนี้ ได้เสนอให้ KIPA กับ สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ขยายความร่วมมือกันมากขึ้น อาทิ การแลกเปลี่ยนศึกษาดูงาน และการดำเนินโครงการวิจัยร่วมกัน การฝึกอบรมระยะสั้นและระยะยาว การยกระดับการประดิษฐ์ของนักประดิษฐ์ไปสู่เชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะในประเด็นที่ฝ่ายไทยมีความต้องการในขณะนี้ ได้แก่ 1) การแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น โดยเฉพาะการแปรรูปยางพารา 2) พลังงานทดแทน อาทิ แสงแดดและลม เป็นต้น 3) การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 4) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จ ตลอดจน อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ดนตรีและละคร 5) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านความงามร่วมกัน ซึ่งไทยมีสมุนไพรที่สามารถนำมาพัฒนาในด้านนี้ได้ 6) อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศและชิ้นส่วน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังเสนอแนวคิดเรื่องการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งนักวิจัยไทยและเกาหลีใต้อาจมาทำงานร่วมกันในเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว โดยไทยขอให้มีการส่งเสริมความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาในทุกมิติ ระหว่างภาคเอกชน รัฐต่อรัฐ และสถาบันการศึกษา
ทั้งนี้ ประธานสมาคม KIPA กล่าวว่า เกาหลีเองเคยประสบความยากจน ภายหลังสงคราม แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้นำในขณะนั้นได้นำพาให้ประเทศสู่ความแข็งแกร่งในทุกวันนี้ และเชื่อมั่นว่า ในอนาคตประเทศไทยจะประสบความสำเร็จเช่นกัน เพราะนายกรัฐมนตรีมีนโยบายที่ดีในการพัฒนาประเทศ โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน
หมายเหตุ สมาคมส่งเสริมการประดิษฐ์สาธารณรัฐเกาหลี (KIPA -Korea Invention Promotion Association) เป็นหน่วยงานของสาธารณรัฐเกาหลี จัดตั้งขึ้น ตั้งแต่ปี 2516 เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีที่จดสิทธิบัตรมาใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในต่างประเทศ โดยมีการมอบรางวัลให้แก่นักประดิษฐ์ ทั้งที่เป็นชาวเกาหลีใต้และต่างชาติที่มีผลงานโดดเด่น ตลอดจน รางวัลพิเศษแก่บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการประดิษฐ์ นวัตกรรม การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในประเทศต่างๆ
ที่ผ่านมา สมาคมส่งเสริมการประดิษฐ์สาธารณรัฐเกาหลี ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2522 แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี 2551 และปี 2552 และแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เมื่อปี 2554
KIPA ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อปี 2550 และกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เมื่อปี 2552 เป็นความร่วมมือที่สนับสนุนการวิจัยในทุกสาขา ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ตลอดจนให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ใช้ในการวิจัย โดยที่ผ่านมาได้ร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของ วช. ได้เข้าร่วมงานแสดงสินค้า SIIF ที่สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งถือว่าเป็นงานที่ขับเคลื่อนเชิงพาณิชย์ให้กับสิ่งประดิษฐ์ และได้นำผลงานของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยไปร่วมแสดงอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้ง KIPA ก็ได้เข้าร่วมงานวันนักประดิษฐ์ที่จัดโดย วช. เป็นประจำทุกปี
ในปี 2557 มีผู้เข้าร่วมแสดงผลงานในงาน SIIF จาก 34 ประเทศ ทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการ ศึกษา องค์กรสนับสนุนทรัพย์สินทางปัญญา นักวิจัย และนักประดิษฐ์อิสระ มีผลงานประดิษฐ์เข้าร่วมประกวดและจัดแสดง 723 ผลงาน มีผู้เข้าชมงานกว่า 50,000 คน และในปี 2558 กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 26-29 พ.ย. 2558 ณ กรุงโซล โดยฝ่ายเกาหลีได้จัดสรรพื้นที่แสดงผลงานประดิษฐ์ให้ไทยแล้ว และฝ่ายไทยอยู่ระหว่างพิจารณาผู้เข้าร่วมและผลงานที่จะนำไปแสดง
กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th