พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “เศรษฐกิจไทยในทศวรรษหน้า : ความท้าทายต่อแรงงานไทย ณ โรงแรมปริ๊นส์ตั้นพาร์ค สวีท เขตดินแดง กรุงเทพฯ ว่า การทำงานด้านแรงงานจะต้องมีทิศทางการทำงานอย่างชัดเจน และรู้ว่าจะเดินไปอย่างไรในอนาคตข้างหน้า การจัดทำยุทธศาสตร์ด้านแรงงานนั้นทุกฝ่ายต้องทราบทิศทางการทำงาน ผู้บริหารรู้ว่าต้องทำอะไร ผู้ปฏิบัติระดับจังหวัดรู้ว่าทำอะไรต่อบ้าง ต่างฝ่ายต่างรู้หน้าที่ไม่ทำให้เสียเวลา เป้าหมายหลักของกระทรวงแรงงานคือ การดูแลคนไทย 60 กว่าล้านคน ให้มีงานทำ การกำหนดทิศทางด้านแรงงาน จะกำหนดด้วยตนเองคนเดียวไม่ได้ ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเป็นตัวกำหนดความต้องการแรงงาน (Demand) และกระทรวงแรงงานเป็นผู้จัดหาแรงงานมาให้ (Supply) สำหรับภาคแรงงานนอกระบบที่อยู่นอกภาคเกษตรประมาณ 10 ล้านกว่าคน กระทรวงแรงงานต้องดูแลเช่นกัน รวมถึงด้านการเพิ่มความสามารถในการผลิตให้แรงงาน (Productivity) การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวเป็นอีกเรื่องที่ต้องดูแลด้วย เหล่านี้กระทรวงแรงงานจะมีกรอบและทิศทางอย่างไร ประเทศไทยต้องไม่ใช่สถานที่ฝึกงานให้แก่แรงงานต่างด้าว เมื่อเราฝึกให้มีฝีมือแรงงานต้องได้อยู่ทำงานต่อ ซึ่งกระทรวงแรงงานได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว ว่าการเว้นระยะเวลาการจ้างงานของแรงงานต่างด้าวที่ครบกำหนด 4 ปี ให้เว้นระยะเวลาการจ้างจากเดิม 3 ปี เหลือเว้นระยะเวลาเป็น 30 วัน เพื่อความต่อเนื่องของการทำงานและไม่สูญเสียแรงงานต่างด้าวที่ได้ฝึกและพัฒนาทักษะไว้แล้ว ปัจจัยที่มากำหนดทิศทางด้านแรงงานประการแรก มิติด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาคที่มีความต้องการใช้แรงงาน ปัจจัยที่สอง มิติด้านความมั่นคงในอนาคต ที่ต้องเข้ามาดูแลพื้นที่และจำนวนการใช้แรงงานต่างด้าว ปัจจัยสุดท้ายคือ มิติด้านสังคมและวัฒนธรรมที่ต้องไม่กระทบ ต้องไม่ไปเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของคนไทย ทั้งสามปัจจัยนี้ต้องเป็นตัวกำหนดจำนวนการใช้แรงงานต่างด้าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่อยากเห็นภาพในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยเศรษฐกิจดี มีคนมาลงทุนสูงที่สุด มีการใช้แรงงานต่างด้าวมากที่สุด แต่คนไทยไม่อยากอยู่ เหล่านี้ทำให้เราต้องมาช่วยกันกำหนด และกำหนดตัวชี้วัดที่เหมาะสม นั้นคือเราต้องมีกำลังแรงงานที่มีคุณภาพ มีจำนวนที่พอเหมาะกับฝ่ายความมั่นคงในการดูแลได้ พอเพียงกับภาคเศรษฐกิจ พอดีกับสังคมและวัฒนธรรม สอดคล้องกับวิถีคนไทย สังคมอยู่ได้อย่างมีความสุข
การจัดการสัมมนาทางวิชาการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น และผลกระทบแรงงานไทย และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาแรงงานในอนาคต เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประกอบการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติด้านแรงงานพ.ศ.2558-2569 ในเชิงรุกต่อไป โดยมีบรรยายพิเศษเรื่อง ทิศทางเศรษฐกิจไทยในทศวรรษหน้า โดย ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเรื่อง เศรษฐกิจไทยในทศวรรษหน้า: ผลกระทบต่อแรงงานไทย โดย รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ซึ่งจะทำให้เห็นภาพเศรษฐกิจไทยและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของภาคแรงงานในอนาคตข้างหน้า เพื่อให้เราเห็นภาพรวมและทิศทางที่จะเดินไปของภาคแรงงานไทยและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในระดับอาเซียและระดับสากล ทั้งนี้กรอบแนวทางในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านแรงงานพ.ศ.2558-2569 กระทรวงแรงงานได้รวบรวมองค์ความรู้ด้านวิชาการ ผสมผสานกับข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย นายจ้าง ลูกจ้าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้า ภาคประชาสังคมทุกกลุ่ม เพื่อให้ “ยุทธศาสตร์ชาติด้านแรงงาน” สำเร็จได้โดยเร็ว
ที่มา: http://www.thaigov.go.th