หากจะมองในมิติของตัวเลขกากอุตสาหกรรม จากการประเมินปริมาณกากฯ ล่าสุดของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยใช้ปริมาณกากอันตรายและกากไม่อันตรายที่มีขออนุญาตนำออกไปกำจัดภายนอกโรงงาน กับจำนวนแรงม้าโรงงานที่มีการตรวจสอบในฐานข้อมูลทะเบียนโรงงาน ในการคำนวณ จะได้ตัวเลขกากอันตราย ที่ควรจะมีปีละ 3.35 ล้านตัน และเป็นตัวเลขกากไม่อันตราย อีกปีละ 50.30 ล้านตัน จากการที่มีนโยบายเข้มงวดเรื่องกากอุตสาหกรรมทำให้ในปี พ.ศ. 2557 มีการขออนุญาตและแจ้งขนส่งออกไปบำบัด/กำจัด/รีไซเคิลจริงๆ เพิ่มขึ้น สำหรับกากอันตรายเป็น 1.03 ล้านตัน (หรือร้อยละ 31) และกากไม่อันตรายเป็น 12.24 ล้านตัน (หรือร้อยละ 24)
“ข้อมูล ณ สิ้นปี พ.ศ. 2557 มีโรงงานที่ได้ลงทะเบียนในระบบจัดการกากอุตสาหกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว 17,384 โรงงาน เมื่อเทียบกับจำนวนโรงงานจำพวก 3 ที่ต้องกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมซึ่งแจ้งประกอบกิจการทั่วประเทศประมาณ 68,000 โรงงาน ดังนั้น โรงงานที่ได้เข้าอยู่ในระบบฯ ของกระทรวงฯ จึงมีประมาณร้อยละ 25 และถ้าหากมองลึกลงไป พบว่า โรงงานที่อยู่ในระบบเหล่านี้ ได้มีการส่งขยะอุตสาหกรรมออกไปบำบัด/กำจัด/รีไซเคิลแล้วจริงๆ เพียงประมาณร้อยละ 7 หรือ 5,300 โรงงาน จาก 68,000 โรงงาน เท่านั้น
ถ้าพิจารณาเฉพาะกากอันตรายที่มีการควบคุมการขนส่ง เมื่อนำตัวเลขจำนวนโรงงานและจำนวนตัวเลขกากอุตสาหกรรมมาดูพร้อมกัน ก็จะสรุปได้ว่า โรงงานมีการจัดการครบถ้วน (ขึ้นทะเบียนและขนส่งไปกำจัดแล้ว) ร้อยละ 7 และ กากอันตรายได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ร้อยละ 31 โครงการนี้จึงถือเป็นการเตรียมความพร้อมและส่งสัญญาณไปยังผู้ประกอบการที่จะต้องนำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบให้สามารถตรวจสอบได้ และจะต้องร่วมกันดูแลและจัดการขยะจากการผลิต ให้ถูกต้องตามกฎหมายและตามหลักวิชาการ ซึ่งภายในเดือนมีนาคมนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมก็รุกต่อไป โดยจะเสนอแผนการจัดการกากอุตสาหกรรมในระยะ 5 ปี ต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งโดยสังเขป แผนดังกล่าวฯ จะประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 4 ด้าน และมีเป้าหมายที่จะนำโรงงานเข้าสู่ระบบฯ และให้มีการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ภายในระยะเวลา 5 ปี หากมีการดำเนินงานตามแผนฯ ได้ครบถ้วน” นายจักรมณฑ์กล่าว
ยุทธศาสตร์ 4 ด้านโดยย่อ ประกอบด้วย 1) การกำกับดูแล/บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม ติดตามการต่ออายุใบอนุญาตโรงงานที่ขาดการจัดการกากอุตสาหกรรม รวมทั้งพัฒนาระบบติดตามการขนส่งกากอันตรายให้สมบูรณ์ 2) การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เข้มงวดกับผู้ฝ่าฝืน/อำนวยความสะดวกกับผู้ปฏิบัติตาม 3) การสร้างความร่วมมือ/แรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการนำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบ และ 4) การสนับสนุนจากเครือข่าย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งที่เป็นเครือข่ายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรม 6 แห่ง สำหรับอนาคต 20-30 ปี และแผนการจัดการแผงโซลาร์เซลล์ที่จะหมดอายุใน 20 ปีข้างหน้า อีกเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 2 แสนตัน”
ที่ผ่านมา นอกจากมีผู้ประกอบการที่ยังไม่เข้าสู่ระบบจัดการกากอุตสาหกรรมอีกจำนวนมาก ยังมีปัญหาร้องเรียนการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมตามที่สาธารณะต่างๆ และปะปนอยู่ในหลุมฝังกลบขยะชุมชน ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อชุมชน และอาจจะปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การจัดการให้เข้าสู่ระบบฯ จึงเป็นการแก้ไขปัญหาที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน ทั้งชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญอย่างยิ่ง ต่อสถานประกอบการเอง ที่จะสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างยั่งยืน สามารถจะรับมือกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี แต่ใช้การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือแทน
ในงานครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เจ้าหน้าที่ของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 76 แห่งทั่วประเทศ และผู้ประกอบการที่พร้อมใจกันมาร่วมกิจกรรม ไม่น้อยกว่า 999 โรงงานทั่วประเทศ โดยกิจกรรมในโครงการประกอบด้วย 1) รณรงค์ให้สถานประกอบการและประชาชนทั่วไป ตระหนักถึงการจัดการขยะอุตสาหกรรม 2) เปิดตัวกิจกรรม Big Cleaning Day ของหน่วยงานสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เพื่อนำร่องการจัดเก็บ คัดแยก และกำจัดขยะ 3) จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์และจัดสัมมนาให้ความรู้เรื่องการจัดการกากอุตสาหกรรมให้กับผู้ประกอบการทั่วประเทศ ประมาณ 52,000 ราย และ 5) การประกวดสถานประกอบการดีเด่นด้านจัดการกากอุตสาหกรรม รวมทั้ง 6) การปรับภูมิทัศน์สถานที่ทำงาน
สำหรับความคืบหน้าโครงการพัฒนาเตาเผาขยะร่วม (ขยะชุมชนกับกากอุตสาหกรรม) ขนาด 500 ตันต่อวัน (ระยะเวลา 5 ปี) และโครงการพัฒนาแผนการจัดตั้งนิคมบริหารกากอุตสาหกรรม (ระยะเวลา 1 ปี) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น โดยองค์กร NEDO (New Energy and Industrial Technology Development Organization) ได้แจ้งยืนยันต่อปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมแล้วว่าจะให้การสนับสนุน
นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “ในสัปดาห์หน้า กระทรวงฯ จะส่งเจ้าหน้าที่กรอ. 4 คน เดินทางไปฝึกอบรม เรียนรู้และดูงานการจัดการกากอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่น และจะมีส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกรมโรงงานอุตสาหกรรมต่อไปอีก ซึ่งทั้งหมดเป็นผลมาจากการเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและผู้บริหารระดับสูง เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยเครือข่ายต่างประเทศ ได้ตอบรับให้ความร่วมมือที่จะสนับสนุนกระทรวงอุตสาหกรรม ในการจัดการขยะที่เป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาล และ คสช.
ที่มา: http://www.thaigov.go.th