วันนี้ (เสาร์ 14 มีนาคม 2558) เวลา 12.20-12.40 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หารือกับนายชินโซ อาเบะ (Mr. Shinzo Abe) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในโอกาสเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 3 (the Third United Nations World Conference on Disaster Risk Reduction -3WCDPR) ณ เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ ร.อ. นพ. ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุม WCDRR นี้ โดยมีผู้นำประเทศและผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก แสดงถึงความเชื่อมั่นในบทบาทนาของญี่ปุ่น ห้วงเวลาที่ผ่านมานี้ ได้พบกับนายกรัฐมนตรี อาเบะเป็นครั้งที่ 4 แล้ว แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของทั้งสองประเทศ
นายกรัฐมนตรียังยกย่องรัฐบาลและประชาชนญี่ปุ่น ที่สามารถฟื้นฟูบ้านเมืองได้อย่างรวดเร็วหลังสึนามิเมื่อปี 2554 ซึ่งครั้งนั้นคนไทยทั้งประเทศเห็นใจและมอบความช่วยเหลือญี่ปุ่นเป็นจำนวนกว่า 940 ล้านบาท ทั้งนี้ ไทยเองได้ผ่านเหตุการณ์มหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 และไทยเองเคยประสบภัยพิบัติสึนะมิร้ายแรงเมื่อปี 2547 ถือเป็นบทเรียนสำคัญ ดังนั้นจึงเห็นว่าประเทศต่าง ๆ ควรต้องมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติเพื่อลดความสูญเสีย และต้องชื่นชมญี่ปุ่นที่ร่วมสนับสนุนกองทุนหลายบริจาค เพื่อรับมือภัยสึนามิ (Tsunami Multi Donor Trust Fund) ที่ไทยก่อตั้งขึ้นด้วย ดังนั้น ในการกล่าวถ้อยแถลงที่ประชุม ฯ ครั้งนี้จะเน้นให้เห็นถึงความสำคัญ 3 ประการ คือ ความเข้มแข็งชุมชน โดยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บทบาทเอกชน และระบบเตือนภัยล่วงหน้า
ระหว่างการหารือ นายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ยังได้ติดตามความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างกัน โดยเฉพาะความร่วมมือระบบราง ทั้งสองเห็นพ้องที่จะเร่งผลักดันความร่วมมือตามบันทึกเจตนารมณ์ (MOI) เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยกระทรวงคมนาคมของไทย อยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะทำงานระดับรัฐมนตรี คาดว่าจะมีการประชุมได้เร็ว ๆ นี้
สำหรับความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำ ไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับญี่ปุ่น ขณะนี้ รัฐบาลได้ทบทวนโครงการบริหารจัดการน้ำใหม่ทั้งหมด โดยกำลังจะให้เปิดประมูลโครงการ ไทยพร้อมและยินดีหากญี่ปุ่นสนใจจะส่งคณะมาพูดคุยกับฝ่ายไทยในรายละเอียด
การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายนั้น ยินดีที่ญี่ปุ่นแสดงความสนใจ พร้อมเสนอให้มีการหารือระหว่างผู้นำสามฝ่าย (ไทย - ญี่ปุ่น - เมียนมาร์) ระหว่างการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง - ญี่ปุ่น ที่โตเกียว ในเดือน ก.ค. นี้
ความร่วมมือด้านความมั่นคง ความร่วมมือไทยและญี่ปุ่น ที่มีกลไก PM/MM เป็นผลจากความเป็นพันธมิตรอันเก่าแก่ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น หวังว่าในอนาคตจะสามารถยกระดับเป็นระดับรัฐมนตรีเพื่อหารือในเรื่องที่เป็นนโยบาย และขยายความร่วมมือในกรอบกว้าง โดยเฉพาะเรื่องอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยังได้มีการหารือเพื่อส่งเสริม การเปิดตลาดสินค้าเกษตร โดยขอให้ญี่ปุ่นมีการนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยเพิ่มขึ้น เช่น เนื้อสุกรแปรรูป และผลไม้ อาทิ ขอให้ช่วยเร่งรัดกระบวนการเปิดตลาดมะม่วงอีก 2 สายพันธุ์ (เขียวเสวย และโชคอนันต์) ซึ่งญี่ปุ่นได้บรรจุมะม่วงทั้งสองชนิดไว้ในรายการที่จะต้องดำเนินการประเมินความเสี่ยง ขอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้มีการเจรจาการค้าสินค้ารอบใหม่ภายใต้ JTEPA โดยเร็ว ไทยเห็นญี่ปุ่น เป็นตลาดใหญ่ที่มีความสำคัญมากสำหรับสินค้ำไทย
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงผลสำเร็จของการมาเยือนญี่ปุ่นเมื่อเดือนที่แล้วว่า ได้รับฟังข้อเสนอแนะของภาคเอกชนที่เป็นประโยชน์ต่อ การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนของญี่ปุ่นในไทย และได้กลับไปสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ให้ยืดหยุ่น โดยได้ดำเนินการบางส่วนแล้ว เช่น การพิจารณาผ่อนปรนการนำเข้าเครื่องจักรที่มีอายุเกิน 5 ปี และการดำเนินการเพื่อลดภาษีให้แก่สินค้าต้นแบบ (prototype) ซึ่งนำมาใช้วิจัยและพัฒนา ทั้งนี้ ผลการสำรวจของไทยพบว่าภาคเอกชนญี่ปุ่นตระหนักถึงความสำคัญที่รัฐบาลไทยมีให้ต่อธุรกิจญี่ปุ่น มีความเชื่อมั่นมากขึ้น และสนใจที่จะลงทุนและดำเนินธุรกิจในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนา และการพัฒนาบุคลากร เช่นเดียวกับการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ ขอให้ญี่ปุ่นเดินหน้าผลักดันการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งไทยเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น จะได้ช่วยสนับสนุนธุรกิจของญี่ปุ่นให้ขยายต่อไปในอาเซียนอย่างเข้มแข็ง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th