ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ คนไทยป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังกันมาก ข้อมูลจากสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ คาดว่ามีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มปีละประมาณ 10,000 คน แนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีผู้ที่เป็นไตวายระยะสุดท้าย 200,000 คน ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ซึ่งขณะนี้ผู้ป่วยรวมกว่า 10 ล้านคน รวมทั้งโรคนิ่วในไตที่คนไทยเป็นกันมาก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะทำให้เส้นเลือดฝอยในไตและเนื้อไตเสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถขับของเสียออกจากร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ โรคนี้จึงเป็นเสมือนเพชฌฆาตเงียบทำลายคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ต้องอาศัยการล้างไตช่วยระบายของเสียออกทางหน้าท้องวันละ 3 - 4 ครั้ง หรือฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งไปตลอดชีวิต การรักษาที่ได้ผลดีที่สุดคือการผ่าตัดปลูกถ่ายเปลี่ยนไต โดยใช้ไตบริจาคจากญาติ 1 ข้างเช่นพ่อแม่ พี่น้อง หรือผู้บริจาคที่เสียชีวิตจากสมองตาย ซึ่งแต่ละปีมีผู้บริจาคน้อยมาก ข้อมูลศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยล่าสุดปี 2557 มีผู้ป่วยรอรับไตจากผู้บริจาค 4,203 คน ขณะที่มีผู้ป่วยสมองตายบริจาคอวัยวะเพียง 188 รายเท่านั้น
ในปี 2558 นี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโครงการปลูกถ่ายไตถวายเป็นพระราชกุศล 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย สมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย และภาคีเครือข่ายอื่นๆ เพื่อปลูกถ่ายไตแก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย มอบชีวิตใหม่ให้ผู้ป่วยพ้นจากความทุกข์ทรมานจำนวน 600 ราย บริการฟรี โดยให้โรงพยาบาลในสังกัดที่เป็นศูนย์รับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ 38 แห่งทั่วประเทศ รณรงค์ขอรับบริจาคอวัยวะจากผู้ป่วยสมองตาย เป้าหมายไม่น้อยกว่า 300 ราย โดยขณะนี้รพ.ในสังกัด 9 แห่งคือ รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.สุราษฎร์ธานี รพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รพ.ขอนแก่น รพ.อุดรธานี รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก รพ.ชลบุรี และรพ.ราชวิถี สามารถผ่าตัดปลูกถ่ายไตให้ผู้ป่วยที่ขึ้นทะเบียนรอรับการผ่าตัดใกล้บ้านยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ได้เพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยไตวายฟรีอีก 2 เรื่อง คือ เพิ่มการคัดกรองชะลอความเสื่อมของไตในกลุ่มเสี่ยง 2 โรค คือเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ตั้งเป้าหมายไม่น้อยกว่า 150,000 ราย หากพบเริ่มผิดปกติจะเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาในคลินิกโรคไตวายเรื้อรัง ที่มีในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่กระจายอยู่ในทุกจังหวัด โดยให้กรมการแพทย์พัฒนาคลินิกไตวายเรื้อรังต้นแบบ นำร่องในเขตสุขภาพที่ 5 และ 6 และร่วมกับสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยจัดทำแนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคนี้ เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ และ2.ขยายการจัดบริการล้างไตทางช่องท้องในโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ 81 แห่งเพิ่มจากเดิมที่มี 40 แห่ง เพื่อให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ได้รับการดูแลชะลอความเสื่อมไตใกล้บ้าน
ศ.นพรัชตะกล่าวต่อว่า ในการป้องกันโรคไตวาย ขอแนะนำให้ประชาชนลดการรับประทานอาหารรสชาติเค็ม หรือการเติมเครื่องปรุงเพิ่ม เพราะจะทำให้ได้รับเกลือโซเดียมสูงกว่าที่ร่างกายต้องการ ไตต้องทำงานหนักเพี่อขับเกลือส่วนเกินออกจากร่างกาย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักอย่าปล่อยตัวให้อ้วน และตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อค้นหาภาวะผิดปกติ โดยเฉพาะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งจะมีการตรวจปัสสาวะดูการทำงานของไตด้วย ส่วนผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงแล้ว ขอให้พบแพทย์ตรวจรักษาตามนัด รับประทานยาและปฏิบัติตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันป้องกันไตเสื่อม และควรสังเกตตัวเอง หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่นปัสสาวะเป็นเลือด เป็นฟองมาก ปัสสาวะบ่อยหรือมีเศษกรวดทรายปนออกมา หรือมีอาการบวมที่หน้าตอนตื่นนอน ปวดหลัง อาจเป็นอาการเริ่มแรกของโรคไต หรือนิ่วในไต ให้รีบไปพบแพทย์ตรวจรักษา เพื่อไม่ให้อาการเรื้อรังจนกลายเป็นไตวายตามมา
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและภาคีเครือข่าย จัดรณรงค์ใหญ่ “รวมพลัง ลดโรคไต ไม่กินเค็ม” เพื่อเผยแพร่ความรู้ สร้างความตระหนักถึงความเสี่ยงอันตรายจากโรคไต จัดบริการตรวจสุขภาพ ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ประชาชน รวมทั้งมีทัศนคติที่ดีต่อการบริจาคอวัยวะเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไต ในวันที่ 15 มีนาคม 2558 ที่ศูนย์การค้าเซนทรัลเวิลด์ กทม.
ที่มา: http://www.thaigov.go.th