รองโฆษกรัฐบาลเผยนายกรัฐมนตรีแนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขยายการพัฒนาศักยภาพนักเรียนอาชีวะโดยศึกษาผ่านการฝึกงานกับภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น

ข่าวทั่วไป Tuesday March 17, 2015 16:01 —สำนักโฆษก

วันนี้ (17 มี.ค. 58) เวลา 15.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมฯ ถึงเรื่องที่นายกรัฐมนตรีปรารภและสั่งการต่อที่ประชุมฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวต่อที่ประชุมฯ เกี่ยวกับเรื่องการศึกษาของอาชีวะตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีนโยบายให้มีการพัฒนาการศึกษาของนักเรียนอาชีวะให้มีขีดความสามารถและศักยภาพที่ดีรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน วันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการเรื่องดังกล่าวว่า ปัจจุบันสถาบันการศึกษาอาชีวะได้มีการลงนามทวิภาคีระหว่างสมาคมอุตสาหกรรมประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย ผู้ประกอบการพันธะอุตสาหกรรม จำนวนประมาณ 8,000 กว่ากิจการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อเสนอแนะการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อต้องการให้นักเรียนอาชีวะที่กำลังศึกษาอยู่ได้มีการโอกาสฝึกงานไปพร้อม ๆ กัน เมื่อจบการศึกษาไปจะทำให้มีคุณสมบัติที่สมเหมาะสามารถที่จะเข้าไปทำงานในภาคอุตสหกรรมหรือโรงงานต่าง ๆ ได้ทันที ขณะเดียวกันสถานบันอาชีวะยังสามารถที่จะใช้เครื่องมือและอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ยังขาดอยู่จากโรงงานอุตสาหกรรมหรือสถานบันของอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมสัญญาทวิภาคีดังกล่าวได้ด้วย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายเพิ่มเติมว่า ควรจะมีการขยายการดำเนินการดังกล่าวเพิ่มขึ้น เพราะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายทั้งตัวเด็ก การพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีประสิทธิภาพ และให้ผู้ที่จบการศึกษามีงานทำ สอดคล้องตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ หรือบริษัท อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำให้เน้นเรื่องการเรียนการสอนที่เป็นภาคภาษาอังกฤษด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับช่าง และระดับการปฏิบัติงาน เพื่อให้นักเรียนอาชีวะที่จบการศึกษาสามารถที่จะทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะโรงงานจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามการแก้ปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นขณะนี้ ซึ่งได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการนั้น ขณะนี้ปัญหาเรื่องหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก วันนี้รัฐมนตรีว่การกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รายงานสถานการณ์ดังกล่าวว่า ในพื้นที่ที่เกิดหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือนั้น สามารถกำหนดสัดส่วนพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ หมอกควันหรือไฟป่าที่เกิดจากพื้นที่การเกษตร ประมาณ 16 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ประมาณ 43 เปอร์เซ็นต์ และเกิดจากพื้นที่ป่าสงวน ประมาณ 41 เปอร์เซ็นต์

ส่วนสาเหตุสำคัญที่เกิดปัญหาหมอกควัน โดยเฉพาะที่เกิดจากในประเทศ คือการเผาป่า เพื่อหาของป่าและล่าสัตว์ หรือการเผาในพื้นที่ทางการเกษตร เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการเกษตรในรอบต่อไป ขณะเดียวกันก็ได้รับผลกระทบลมพัดหมอกควันจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะประเทศในพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งจากประเทศเมียนมาร์ หรือประเทศอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมสถานการณ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยรายงานว่าได้มีการประสานงานการปฏิบัติกับทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน และมีการวางแผนระยะยาวสำหรับการแก้ปัญหาในอนาคต รวมทั้งได้มีการจับกุมผู้ที่ฝ่าฝืนกฏกติกาที่กระทรวงทรัพยากรฯ ได้ประกาศออกไปเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ไปแล้ว จำนวน 10 คดี ซึ่งในส่วนนี้กระทรวงทรัพยากรฯ ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติของแต่ละกระทรวงและมีการประสานงานกันอย่างชัดเจน เช่น การเพิ่มกำลังดับไฟเข้าไปในพื้นที่ มีการประสานเครือข่ายเฝ้าระวังของประชาชนในพื้นที่ และมีการนำอากาศยานบินลาดตระเวนและดับไฟป่า รวมทั้งประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด และมีการประกาศห้ามเข้าไปในเขตป่าอนุรักษ์ในทุกพื้นที่โดยเด็ดขาดตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2558 ขณะที่กระทรวงมหาดไทย เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้ลงพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจในระดับอำเภอ และจัดให้มีการลงทะเบียนเป็นครั้งแรกสำหรับผู้ที่มีอาชีพหาของป่าและประชาชนที่เป็นเจ้าของไร่ข้าวโพดซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการเผาพื้นที่เพื่อเตรียมการสำหรับการเกษตร รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขได้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ดูแลประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาไฟป่าและหมอดควัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาระยะยาว ได้มีแนวคิดที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่มีความเข้มแข็งโดยจัดเป็นกลุ่มสหกรณ์ให้มากขึ้น และดำเนินการสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์รถไถกลบแทนการเผา โดยขั้นต้นให้ดำเนินการเช่าแทนการซื้อไปพลางก่อน เพื่อประหยัดงบประมาณในเรื่องของการบำรุงรักษาและการซ่อมแซม ทั้งนี้อาจให้มีการจัดตั้งเป็นศูนย์ประจำภาค เช่น อาจจะแยกเป็นศูนย์ระดับจังหวัดหรือระดับอำเภอตามความเหมาะสม ทั้งนี้การดำเนินการทั้งหมดดังกล่าว นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลักในการประสานการปฏิบัติงานและบูรณาการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้ คสช. เป็นหน่วยงานสนับสนุนอีกทางหนึ่งด้วย

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธท์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ