วันนี้ (18 มี.ค.58) เวลา 09.00 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ภายหลังการประชุม นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (เลขาธิการ ครม.) พร้อมด้วย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (เลขาธิการ สศช.) และนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ผู้ว่าการ รฟม.) ได้ร่วมกันแถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
เลขาธิการ ครม. กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ได้หารือสถานการณ์เศรษฐกิจ หลังจากธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ได้ปรับลดจีดีพีเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเหลือร้อยละ 3.5 จีดีพีของจีนได้ปรับลดลงจากร้อยละ 7.1 เหลือร้อยละ 6.8 และตลาดเกิดใหม่ชะลอตัวเหมือนกับไทย จึงคาดว่าจีดีพีจะขยายตัวเพียงร้อยละ 3.5-4.5 ส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตร ทำให้รายได้ของประชาชนลดลง และแรงงานโรงงานอุตสาหกรรมมีรายได้ลดลง ซึ่งคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจมีความเป็นห่วงเรื่องนี้มาก จึงต้องหาทางช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยกำชับกระทรวงพาณิชย์ให้รักษาฐานการส่งออกในตลาดเดิม และเน้นพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวชายแดนเพื่อส่งออกสินค้าไปประเทศเพื่อนบ้านแทนส่งออกไปตลาดโลก
พร้อมกันนี้ เลขาธิการ ครม. กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจวันนี้ ได้ยกระดับผลการพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจให้มีความสำคัญมากขึ้น โดยให้พิจารณาวาระการประชุมด้านต่าง ๆ จากนั้นให้เสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบเพื่อให้การติดตามหรือออกมาตรการเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น เพราะรัฐบาลได้ออกมาตรการหลายด้านในช่วงที่ผ่านมา เช่น เงินก่อสร้างถนนของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบทวงเงิน 40,000 ล้านบาท มาตรการเร่งรัดให้ลงนามจัดซื้อจัดจ้างโครงการลงทุนภาครัฐ ที่คาดว่าสิ้นเดือนมีนาคมนี้จะทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้ร้อยละ 90 ของโครงการทั้งหมด หลังจากขณะนี้ได้ลงนามสัญญาไปแล้ววงเงิน 2.8 แสนล้านบาทและกำชับให้เร่งรัดก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกเส้นทาง โดยให้รายงานความคืบหน้าในการก่อสร้างให้คณะรัฐมนตรีทราบทุกสัปดาห์ เพื่อให้เอกชนมีความมั่นใจว่ารัฐบาลได้เดินหน้าก่อสร้างจริง รวมทั้งผลักดันโครงการป้องกันน้ำท่วมเพื่อปรับระบบชลประทาน การขุดลอกคลองในช่วงหน้าแล้งวงเงิน 3.8 หมื่นล้านบาท โดยมีเป้าหมายการลงทุน 1.8 แสนล้านบาทสำหรับแผนป้องกันน้ำท่วม รวมทั้งยังมีการเตรียมหาทางลดต้นทุนการผลิตเกษตรกร รองรับการเพาะปลูกในฤดูกาลผลิตในปีนี้ เช่น โรงสีชุมชุน การใช้รถเกี่ยวข้าวร่วมกัน การอนุมัติเอสเอ็มอีแบงก์ให้ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อดึงรายได้เข้าประเทศ โดยหวังที่จะพึ่งตนเองในประเทศแทนการส่งออกที่ชะลอตัว เพราะเมื่อเงินลงทุนภาครัฐและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำออกสู่ระบบจะเกิดการลงทุนของภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะมั่นใจโครงการลงทุนภาครัฐ ก่อให้เกิดการจ้างงาน และหวังว่าจีดีพีจะขยายตัวดีขึ้นในไตรมาส 2 ของปีนี้
ด้านเลขาธิการ สศช. กล่าวเพิ่มเติมใน 3 เรื่องคือ 1. คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจได้ติดตามสถานการณ์และตัวเลขเศรษฐกิจที่ได้เห็นแนวโน้มของเศรษฐกิจดีขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่กลางปี 2557 ที่จีดีพีของประเทศในไตรมาส 3-4 ดีขึ้นโดยลำดับ และคาดการณ์จากมาตรการที่รัฐบาลได้เร่งรัดดำเนินการโดยเฉพาะมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายเงินงบประมาณทั้งงบประมาณที่ค้างท่อตั้งแต่ปี 2556-2557 งบประมาณปี 2558 และงบเสริมในเรื่องโครงการสร้างพื้นฐาน 40,000 ล้านบาทโดยเน้นไปที่กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท รวมทั้งเรื่องการวางแผนสำหรับปีงบประมาณ 2559 ซึ่งงบส่วนใหญ่เป็นงบก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยได้เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนในเรื่องการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดิน ที่ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 1 เม็ดเงินที่เข้าสู่ระบบภาคราชการโดยเฉพาะงบลงทุนได้เพิ่มขึ้นถึง 6% และเชื่อว่าเมื่อรวมข้อมูลในเดือนมีนาคมแล้ว การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินน่าจะเพิ่มมากกว่า 6% 2. เรื่องการท่องเที่ยว ตัวเลขของการท่องเที่ยวตั้งแต่กลางปี 2557 ถึงปัจจุบันตัวเลขการท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้นมาโดยลำดับ นักท่องเที่ยวมีความมั่นใจมากขึ้นในเรื่องความสงบเรียบร้อยในประเทศ โดยนักท่องเที่ยวที่สำคัญมาจากจีนเป็นหลักแม้ว่าค่าเงินหยวนจะอ่อนค่าแต่ตลาดท่องเที่ยวไทยยังเป็นตลาดที่คนจีนชอบมาท่องเที่ยว 3. การลงทุนของภาคเอกชน ที่มาตรการด้านการเงินได้เข้ามามีส่วนช่วย ซึ่งจากการที่คณะกรรมการนโยบายด้านการเงิน หรือ กนง. ได้ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ก็มีผลทำให้ธนาคารพาณิชย์โดยเฉพาะธนาคารใหญ่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายไม่ได้คิดว่าภาคการเงินจะเข้ามาช่วยในเรื่องของการที่จะทำให้มีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจจะเติบโต โดยเฉพาะต้นทุนการเงินนั้นจะลดลงไป 0.25% ซึ่งมีผลต่อค่าเงินบาทช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นมีนาคม 58 ที่ค่าเงินบาทอ่อนลงไปเล็กน้อย ซึ่งจะได้มีการเกาะกระแสประเทศรอบอาเซียนและหลายประเทศที่ได้หันมาปรับลดเพื่อสกัดสั้นเรื่องเงินทุนที่เข้ามาเก็งกำไรในไทยหรือประเทศอื่น ๆ ดังนั้น ด้วยมาตรการดังกล่าว คาดว่าจีดีพีในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 จะโตได้ประมาณ 3% หรืออาจจะมากกว่านี้ ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่เร่งตัวขึ้นจาก 2.3% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557
“มาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายเม็ดเงินของงบประมาณแผ่นดิน โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างทั้งหลายจะต้องลงนามในสัญญาผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม เฉพาะเรื่องโครงการด้านคมนาคม โครงการก่อสร้างทางเม็ดเงิน 40,000 ล้านบาทก็ต้องเร่งรัด ฉะนั้นเชื่อว่าในปี 2558 ปัจจัยที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะมาจาก 1. การท่องเที่ยว 2. การลงทุนของภาครัฐ และ 3. การบริโภคที่จะตามมา อย่างไรก็ตามอานิสงส์ในเรื่องการเพิ่มของอัตราการบริโภคภายในประเทศ ต้องยอมรับว่ากำลังซื้อส่วนหนึ่งมาจากภาคเกษตรแต่ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังไม่ค่อยดี แต่ก็จะมีส่วนที่เข้ามาช่วยเพิ่มกำลังซื้อคือเม็ดเงินจากกลุ่มคนชั้นกลางที่ได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง” เลขาธิการ สศช. กล่าว
เลขาธิการ สศช. กล่าวถึงข้อสั่งการเพิ่มเติมของนายกรัฐมนตรีว่า นายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจต่อยอดนวัตกรรม เพราะสินค้าหลายตัวมีการวิจัยและพัฒนา มีการคิดค้นรูปแบบต่าง ๆ ออกมาแต่มักจะไปไม่ถึงดวงดาว ไม่สามารถนำไปทำการค้าขายได้ มีการวิจัยแล้วอยู่กับที่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพื่อให้เป็นศูนย์ข้อมูลวิเคราะห์เศรษฐกิจร่วมกัน และนำผลงานด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมไปต่อยอดในเชิงธุรกิจ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้มีการติดตามเรื่องมาตรการของรัฐซึ่ง สศช. ได้ทำตารางการรายงานว่ามาตรการที่รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไปแล้วนั้นมีผลการดำเนินงานอย่างไรในทุก 3 เดือน รวมทั้งประมาณการต่อไปว่าในอนาคตการทำงานจะมีเม็ดเงินลงไปเท่าไร ผลการทำงานจะมีความก้าวหน้าหรือจะต้องเร่งรัดเรื่องใด และนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ไปดูเรื่องการลดต้นทุนปัจจัยการผลิตของเกษตรกร โดยเฉพาะในเรื่องวัตถุดิบ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงหากจำเป็นต้องใช้ ที่จะต้องมีการปรับราคาลงตามราคาน้ำมันที่ได้ปรับลดลงแล้ว
เลขาธิการ สศช. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจได้ติดตามความก้าวหน้าของความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนในเรื่องการพัฒนารถไฟรางมาตรฐาน 2 เส้นทาง หนองคาย-กรุงเทพฯ หนองคาย-มาบตาพุด ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้รายงานว่ามีการประชุมกับจีนรวม 3 ครั้งโดยมีข้อสรุปที่สำคัญในรูปแบบการออกแบบก่อสร้าง เทคโนโลยี และระบบราง โดยจะเป็นเทคโนโลยีของจีนทั้งหมด ส่วนการก่อสร้างจะใช้บริษัทของไทยดำเนินการ สำหรับการเดินรถมีการตกลงเบื้องต้นกับจีนว่าจะเป็นการเดินรถร่วม ที่อาจเป็นการตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อเดินรถร่วม ด้านแหล่งเงินจะเป็นแหล่งเงินจากหลายแหล่งเงินรวมถึงการใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน การกู้ภายในประเทศ และกู้จากจีนเฉพาะส่วนที่เป็นเทคโนโลยี ตัวรถ ระบบอาณัติสัญญาณ ซึ่งความก้าวหน้าของโครงการขณะนี้คือระหว่างเดือนมีนาคม-สิงหาคมเป็นช่วงการศึกษาความเหมาะสมเป็นไปได้ การสำรวจ การออกแบบระบบรถไฟทั้งสองเส้นทาง ที่แบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย ช่วงที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด จะแล้วเสร็จเดือนสิงหาคม คาดว่าการก่อสร้าง 2 ช่วงแรกจะเริ่มได้ต้นเดือนตุลาคม ทั้งนี้ ในเรื่องการออกแบบเส้นทางรถไฟจะทำควบคู่ไปกับการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา และช่วงที่ 4 นครราชสีมา-หนองคาย คาดว่าการศึกษาออกแบบจะแล้วเสร็จประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2558 เริ่มก่อสร้างได้ต้นปี 2559
ด้าน นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ รฟม. ได้รายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลว่า ในส่วนของโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างรวม 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ ส่วนต่อขยายระยะทาง 23 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการงานระบบรถไฟฟ้าคาดว่าจะเปิดเดินรถได้ประมาณกลางปี 2559 จะทยอยทดลองเดินรถได้ในไตรมาสแรกปี 2559 โดยตัวรถชุดแรกจะทยอยส่งมาในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งจะได้มีการทดสอบภายในก่อน และจะทดลองเดินรถชั่วคราวได้ประมาณเดือนมีนาคม 2559 และจะเปิดบริการเต็มรูปแบบในเดือนสิงหาคม 2559 2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายระยะทาง 27 กิโลเมตร ปัจจุบันงานโยธามีความก้าวหน้า ระบบการเดินรถอยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนที่จะได้ข้อสรุปโดยเร็ว คาดว่าจะแล้วเสร็จและทยอยเปิดเดินรถได้ประมาณกลางปี 2561 โดยจะทยอยเปิดเป็นช่วง ๆ ไปถึงประมาณปี 2562 3. โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่เป็นเส้นทางต่อขยายจากโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอส แบ่งเป็นสองส่วนคือ ส่วนแรก ส่วนใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ มีความก้าวหน้าการก่อสร้าง 51% เมื่อได้ข้อสรุปรูปแบบการให้การบริการการเดินรถที่จะต้องหารือกับกรุงเทพมหานครแล้ว คาดว่าจะสามารถเปิดเดินรถได้ประมาณต้นปี 2563 ส่วนที่สอง ส่วนเหนือ ช่วงต่อจากหมอชิต สะพานใหม่-คูคต รฟม. ดำเนินการประกวดราคาแล้วเสร็จ จะลงนามสัญญาว่าจ้างให้เริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในเดือนเมษายน และงานก่อสร้างจะเริ่มได้ประมาณเดือนมิถุนายน 2558 คาดว่าจะเปิดเดินรถได้ประมาณต้นปี 2563 ส่วนอีก 3 โครงการที่อยู่ระหว่างการขอเสนออนุมัติเพื่อประกวดราคา ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก จากพระราม 9 ไปมีนบุรี ระยะทาง 21 กิโลเมตร อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติดำเนินโครงการ ถ้าเป็นไปตามแผนจะสามารถประกวดราคาได้ภายในปีนี้ และเริ่มงานก่อสร้างได้ในปี 2559 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปีเศษ คาดจะเปิดเดินรถได้กลางปี 2563 ส่วนอีก 2 โครงการคือโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคมเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี หากเป็นไปตามแผนจะสามารถประกวดราคาได้ในปี 2559 และเริ่มงานก่อสร้างได้ในปี 2560 สามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2563
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th