นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานแจ้งที่ประชุมรับทราบว่า เนื่องจากรัฐบาลจะบริหารประเทศ ครบ 6 เดือน ดังนั้นการประชุมของ กขร. ครั้งนี้จะมีการหารือเกี่ยวกับเรื่องกรอบการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล รอบ 6 เดือน อย่างไรก็ดีปัจจุบันมีคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลขึ้นมาหลายคณะ แต่ยืนยันว่าจะไม่มีผลกระทบในเรื่องการทำงานที่ทับซ้อนกัน เพราะคณะกรรมการในชุด กขร. เป็นชุดขับเคลื่อนของรัฐบาลที่ทำงานควบคู่เชื่อมโยงกับคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายสำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาล (กขน.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยเฉพาะที่เป็นการดำเนินงานประจำ (Function) ทั้งหมดตามนโยบายรัฐบาล 11 ข้อ รวมทั้งการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ และการปฏิรูปประเทศ ขณะเดียวกัน กขร. จะเป็นคณะกรรมการชุดหลักในการจัดทำรายงานที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด และเป็นคณะกรรมการที่เป็นฐานข้อมูลชุดใหญ่ โดยมีคณะกรรมการผู้ประสานงานบูรณาการการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลระดับกระทรวง (ปขก.) เข้ามาช่วยสนับสนุการดำเนินงานอีกทางหนึ่ง ขณะที่คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (กขย.) จะทำหน้าที่หลักในการแก้ไขปัญหา อุปสรรค ข้อขัดข้องต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
พร้อมกันนี้ กขร. ได้รับมอบหมายให้ดูแลในเรื่องการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยจะมีการลงไปตรวจเยี่ยมพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าวด้วย
ภายหลังการประชุม กขร. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีการหารือในเรื่องการติดตามรายงานผลการดำเนินงานขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (12 ก.ย. 57 – 28 ก.พ.58) ในรอบที่ผ่านมา รวมทั้งเรื่องการจัดทำกรอบการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล รอบ 6 เดือน ซึ่งจะครบรอบสิ้นเดือนมีนาคมนี้ และคาดว่าประมาณต้นเดือนเมษายน 2558 จะสามารถรายงานผลการดำเนินงาน 6 เดือนของรัฐบาลได้
นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีการหารือเรื่องการขับเคลื่อนในประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ซึ่งดำเนินการโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กอ.รมน. โดยได้มีการดำเนินการในเรื่องการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งขณะนี้มีแผนงาน/โครงการระดับตำบลเสนอเข้ามาประมาณ 98% และกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาเป็นรายโครงการ และคาดว่าจะสามารถพิจารณาได้เสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้ โดยได้มีการกำหนดมาตรการในการเบิกจ่ายงบประมาณไว้แล้ว ซึ่งหากโครงการใดได้รับการอนุมัติก็จะสามารถเบิกจ่ายเงินลงไปในพื้นที่ได้ไม่เกิน 7 วัน เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งเป็นไปอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่าไรก็ตาม ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ายังสามารถรับมือกับปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้ ทั้งในพื้นที่แล้งซ้ำซาก 31 จังหวัด หรือพื้นที่ที่ได้มีการประกาศเป็นเขตภัยแล้งในระดับหมู่บ้าน ประมาณ 6,000 กว่าหมู่บ้าน โดยทุกกระทรวงและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีการบูรณาการลงไปให้ความช่วยเหลือถึงในระดับหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นการขุดเจาะน้ำบาดาล การจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์และปัญหา การช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพการเกษตรระหว่างที่ประสบปัญหาภัยแล้งได้ อีกทั้งที่ประชุมได้มีการหารือการแก้ไขปัญหาในเรื่องการส่งออกและตัวเลขการส่งออกของไทย ซึ่งขณะนี้ชะลอตัวลง โดยได้มีการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ทั้งการรณรงค์ในการส่งออกเพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักที่มีอยู่เดิมของ EU หรือตลาดศักยภาพและตลาดใหม่ รวมทั้งให้ธุรกิจขนาดใหญ่เป็นพี่เลี้ยงให้กับ SMEs การไปลงทุนในต่างประเทศให้มากขึ้น เป็นต้น
ขณะเดียวกันสำนักงบประมาณได้รายงานที่ประชุมรับทราบเกี่ยวกับสถานภาพ ภาพรวมด้านงบประมาณปีงบประมาณ 2558 รวมทั้งมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 และเรื่องการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ซึ่งสำนักงบประมาณยืนยันว่าการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐจะปรับตัวดีขึ้นไปตามลำ และคาดว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมได้
พร้อมทั้งที่ประชุมได้รับทราบรายงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการดำเนินการเรื่องตลาดสินค้าชุมชน ซึ่งได้มีการดำเนินการนำร่องที่บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล โดยขณะนี้ได้มีการขยายการดำเนินการดังกล่าวไปในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยรายงานว่า มีประมาณ 2,000 กว่าตลาดชุมชน ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ ก็ได้มีการดำเนินการในเรื่องของตลาดเกษตรด้วย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล รวมไปถึงจะมีการขับเคลื่อนเขตเศรษกิจพิเศษเป็นการเฉพาะ
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือที่เกิดขึ้นขณะนี้ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รายงานคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้วถึงมาตรการต่าง ๆ ที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งรัดให้ความช่วยเหลือ โดยมีการดำเนินการหลายมาตรการด้วยกัน ทั้งมาตรการการบังคับใช้กฎหมายเรื่องการเผา การทำฝนหลวง การนำน้ำช่วยไปช่วยเหลือในพื้นที่ รวมทั้งกระทรวงทรัพยากรฯ ได้มีการระดมจากจัดเจ้าหน้าที่ป่าไม้จากพื้นที่ต่าง ๆ เข้าไปดูแลช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้จะต้องเร่งดำเนินการให้ปัญหาหมอดควันคลี่คลายให้ได้โดยเร็ว เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจภาคอื่น ๆ ด้วย
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์
ที่มา: http://www.thaigov.go.th