กระทรวงวิทย์สกัดผลงานวิจัย ใช้ประโยชน์เพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทย สู่ธุรกิจหมื่นล้าน

ข่าวทั่วไป Monday March 16, 2015 16:05 —สำนักโฆษก

วันนี้ 11 มีนาคม 2558 เวลา 11.30 น. ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกียรติเป็นประธานในงานแถลงข่าว “กระทรวงวิทย์ฯ สกัดผลงานวิจัยใช้ประโยชน์ เพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทยสู่ธุรกิจส่งออกหมื่นล้าน” พร้อมด้วย ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยี (นาโนเทค) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) และนางเกศมณี เลิศกิจจา นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าว การใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ วิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทยสู่ตลาดโลก ณ ห้องโถงชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สป.วท.

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า หนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลคือ การผลักดันงานวิจัยและพัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้นำผลงานวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทย ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) โดยใช้ประโยชน์จากความหลากหลายของพันธุ์ไม้ต่างๆ และภูมิปัญญาไทย มายกระดับมาตรฐานเทียบเท่าสากล สอดคล้องกับมาตรการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการปรับกฎระเบียบเครื่องสำอางเพื่อรองรับการเข้าสู่ประประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการใช้เกณฑ์หรือข้อบังคับให้ผู้ผลิตต้องปฏิบัติตามวิธีการที่ดีในการผลิตเครื่องสำอางอาเซียนหรือ ASEAN GMP (ASEAN Good Manufacturing Practice: GMP) และกำหนดให้ประเมินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ออกสู่ตลาด

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า หลายหน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้แก่ ศูนย์นาโนเทคฯ สวทช. วว. และ TCELS ได้ขยายผลการพัฒนางานวิจัยใช้ประโยชน์ในกลุ่มสมุนไพรทั้งผลิตเครื่องสำอาง เวชสำอาง อาหารเสริมและยา โดยดำเนินการผลิต และพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการก่อสร้างโรงงานผลิตเครื่องสำอางต้นแบบ โรงงานผลิตสารสกัดสมุนไพรเพื่อผลิต ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และยา ตามมาตรฐาน GMP เพื่อยกระดับมาตรฐานภาคธุรกิจเพื่อการส่งออก ให้ผลิตภัณฑ์ไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยเฉพาะมูลค่าส่งออกเครื่องสำอางไทยคาดว่าจะสูงถึงกว่า 2 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะลดการนำเข้าวัตถุดิบสารสกัดได้ถึง 2 พันล้านบาท อีกทั้งยังสามารถสร้างงานและรายได้ ให้คนไทยในอนาคต

ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า นาโนเทคได้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์แล้ว ได้แก่ 1. โลชั่นน้ำมันรำข้าวนาโน ช่วยบำรุงให้รากผมแข็งแรงชะลอการหลุดร่วง เพิ่มมูลค่าแก่รำข้าวลดการเหลือทิ้งในกระบวนการสีข้าว 2. แป้งหอมศรีจันทร์ทานาคา มีการพัฒนาสูตรตำรับพิเศษ ให้เนื้อแป้งละเอียดขึ้น เปียกน้ำได้ง่ายขึ้นและล้างออกได้ง่ายขึ้น ช่วยลดความมันบนใบหน้า แก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการได้อย่างตรงความต้องการ เป็นต้น ปัจจุบัน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. อยู่ระหว่างก่อสร้าง โรงงานผลิตเครื่องสำอางต้นแบบมาตรฐาน GMP และจัดหาครุภัณฑ์เพื่อจัดตั้งโรงงานต้นแบบในระดับ Pilot Scale

ซึ่งตั้งอยู่ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย สำหรับการทดลองผลิตแก่ผู้ประกอบการภาคเอกชนก่อนการลงทุนผลิตในระดับอุตสาหกรรมจริง ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงงานวิจัยสู่ตลาด และคาดว่าโรงงานผลิตเครื่องสำอางต้นแบบมาตรฐาน GMP จะพร้อมให้บริการประมาณเดือนมิถุนายน 2559 แก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม SMEs และ OTOP ในรูปแบบ One-Stop Service

นายยงวุฒิ กล่าวว่า วว. มีโครงการสร้างโรงงานผลิตสารสกัดสมุนไพรเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและยา ตามมาตรฐาน GMP/PICs โดยกำลังดำเนินการในปี 2559 เพื่อยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง/เวชสำอางจากสารสกัดสมุนไพรตามหลักเกณฑ์ GMP หรือ GMP PIC/s และช่วยลดต้นทุนการผลิตดังกล่าวให้ภาค SMEs รวมทั้งการขยายกำลังการผลิตจากระดับห้องปฏิบัติการวิจัยสู่ระดับเชิงพาณิชย์ นับเป็นการยกระดับภาคธุรกิจด้านอุตสาหกรรมการผลิต ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเวชสำอางจากสารสกัดสมุนไพร เป็นแหล่งเรียนรู้กระบวนการผลิตสมุนไพรที่ได้มาตรฐานและเพิ่มคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรและประชาชนผู้บริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพร

วว. มีแนวทางในการสร้างขีดความสามารถการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดย วว. มีการดำเนินการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอาง ที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน ทั้งในด้านการพัฒนาสูตร การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พิษวิทยาของทั้งสารสกัดและผลิตภัณฑ์ การทดสอบการปนเปื้อนจากโลหะหนักและจุลชีพ และการควบคุมคุณภาพทั้งทางเคมีและกายภาพของสาระสำคัญและผลิตภัณฑ์ จนได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ สูตรผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต การปนเปื้อนของผลิตภัณฑ์ ข้อมูลความปลอดภัย และแหล่งวัตถุดิบที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสูตรและกระบวนการผลิตสู่ภาคเอกชน/ภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ รวมทั้งข้อมูลที่องค์การอาหารและยา (อย.) ต้องการในการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ เพื่อลดการนำเข้าทั้งเทคโนโลยีและการผลิตจากต่างประเทศ

นอกจากนี้ วว.ยังพร้อมให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการ SMEs ด้านการลงทุนและช่องทางการจัดจำหน่าย โดยได้ร่วมกับหน่วยงานเครือข่าย อันได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนด้านสินเชื่อ และด้านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม นั้นให้การค้ำประกัน

ดร. นเรศ กล่าวว่า ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย โดยสามารถสร้างรายได้คิดเป็นมูลค่าสูงถึงประมาณปีละ 400,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันมูลค่าทางเศรษฐกิจของวัตถุดิบน้ำยางพาราสดอยู่ที่ปริมาณเนื้อยางแห้งในน้ำยางเท่านั้น แต่ส่วนเซรั่มซึ่งเป็นส่วนใสที่ไม่ใช่ยางในน้ำยางพาราสดที่มีปริมาณสูงถึงปีละกว่า 6,000 ล้านลิตร หรือคิดปริมาณน้ำหนักแห้งกว่า 60 ล้านกิโลกรัม จากพื้นที่ปลูกยางพาราทั่วประเทศประมาณ 16.7 ล้านไร่ ยังไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด

นอกจากนี้ TCELS ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยนเรศวร สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพจากน้ำยางพารา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างมูลค่าใหม่ให้กับส่วนของของเหลวที่ไม่ใช่ยาง (non-rubber) ในน้ำยางสด และนำเซรั่มจากน้ำยางไปใช้ประโยชน์ผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพและเครื่องสำอาง ซึ่งได้ผลผลิตเป็นสารสกัดที่มีมูลค่าสูง 1 ชนิด คือ สารยับยั้งโปรตีเอส (Hb Extracts) ต่อมานำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิว 2 สูตร และมีบริษัทเอกชนนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อีก 3 สูตร ได้ทดลองขายครีมสูตร 1 ในท้องตลาด และได้ยื่นจดสิทธิบัตรไป 8 ประเทศ ระหว่างการผลิตสารสกัด Hb ได้ค้นพบ สารออกฤทธิ์ที่ได้จากสารสกัด 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดที่ 1 สารสกัดเบต้ากลูแคน ซึ่งได้นำมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อบำรุงผม หนังศีรษะ ผิวพรรณ และอาหารเสริมทางการแพทย์ ชนิดที่ 2 คือ คิวแบรคคีทอล สามารถนำไปพัฒนาเป็นสารตั้งต้นสำหรับยารักษามะเร็งได้อีกด้วย โดยในปีที่ผ่านมามีภาคเอกชน รายย่อยและ SMEs สนใจนำสารสกัดไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดแล้ว TCELS จึงวางแผนจัดทำแผนการขยายผลการผลิตสารสกัดยางพารามูลค่าสูงสู่เชิงพาณิชย์ ลงสู่ท้องถิ่น 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากสหกรณ์สวนยางเข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 4 แห่ง ขณะนี้ TCELS ได้รับสิทธิบัตรแล้วใน 4 ประเทศคือ ไทย สิงคโปร์ จีน และอินโดนีเซีย และนอกจากผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสารสกัดยางพาราแล้ว ยังมีอาหารเสริมทางการแพทย์ และเป็นสารตั้งต้นสำหรับเป็นยารักษาโรคมะเร็งได้อีกด้วย

นางเกศมณี เปิดเผยว่า จากการอบรมเกี่ยวกับกระบวนการผลิตสินค้าของผู้ประกอบการที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีบุคลากรที่ความรู้ความสามารถอยู่มากทั้งในรั้วมหาวิทยาลัยและในสถาบันวิจัยต่างๆ แต่ที่ผ่านมาไม่มีการนำความรู้ความสามารถที่มีอยู่มาเผยแพร่ ซึ่งในวันนี้ถือเป็นโอกาสดีอย่างยิ่ง ที่จะได้ประชาสัมพันธ์ให้กับคนทั้งโลกได้ทราบถึงการใช้ประโยชน์จากสารสกัดสมุนไพร ทั้งนี้ประเทศไทยได้ผลิตและส่งออกสารสกัดสมุนไพรไปยังต่างประเทศในแถบยุโรปมานานกว่า 40 ปี และซึ่งจัดอยู่ในลำดับที่ 1 ในภูมิภาคอาเซียในการผลิตสินค้าดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ ดร.พิเชฐ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า รัฐบาลได้มีข้อสั่งการผ่านการประชุม กรอ. ให้กระทรวงวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีทำหน้าที่ประสานและจัดทำแผนการบูรณาการเกี่ยวกับห้องปฏิบัติการทางด้านอาหาร ยา อุตสาหกรรม และการเกษตร ฯลฯ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากในการให้ความรู้และข้อมูล รวมถึงการปรับปรุงแก้ไขและการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับภาคเอกชนให้มากยิ่งขึ้น

ข่าวโดย : ทีมโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ

ถ่ายภาพและวีดิโอ : นายไววิทย์ยอดประสิทธิ์,นายรัฐพล หงสไกร

ประสานงานได้ที่ : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

อีเมลล์ : pr@most.go.th

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ