ปส. ย้อนรำลึก ๔ ปี สึนามิญี่ปุ่น ความล้มเหลวในอดีต สู่การพัฒนาความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ที่เข้มแข็ง

ข่าวทั่วไป Monday March 16, 2015 16:07 —สำนักโฆษก

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ย้อนรำลึกผลกระทบ จากสึนามิญี่ปุ่นเมื่อ ๔ ปีก่อน ย้ำเป็นบทเรียนที่น่าจดจำสำหรับประเทศญี่ปุ่น รวมทั้ง ประเทศต่าง ๆ ให้นำไปสู่การพัฒนาระบบความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ที่เข้มแข็ง ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน และสิ่งแวดล้อม

ผลกระทบจากแผ่นดินไหวขนาด ๙ ริกเตอร์ และสึนามิยักษ์ นอกชายฝั่งภาคตะวันออกของประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ไม่เพียงแต่เขย่าผืนแผ่นดินทั่วประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังได้เขย่าความศรัทธาในเรื่องของความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ไปทั่วโลก ทำให้หลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศญี่ปุ่นเอง ต้องทบทวนกันอย่างจริงจังว่า การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์นั้นเป็นทางเลือกที่คุ้มความเสี่ยงหรือไม่ หลังจากเกิดอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิชิ ทางการญี่ปุ่นได้สั่งการให้หยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เป็นการชั่วคราว เมื่อที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์นั้นๆ หยุดบำรุงรักษาเครื่องประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบความปลอดภัย ตลอดจนพัฒนา เสริมสร้างกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีความปลอดภัย และรัดกุมมากยิ่งขึ้น โดยทางการญี่ปุ่นได้จัดตั้งองค์กรเพื่อกำกับดูแลกิจการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานนิวเคลียร์ที่ชื่อ Nuclear Regulation Authority (NRA) ภายใต้กระทรวงสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การกำกับดูแลความปลอดภัยของพลังงานนิวเคลียร์มีความเป็นเอกภาพและอิสระมากยิ่งขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ภารกิจด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์กระจายอยู่ตาม องค์กรต่างๆ ภายใต้กระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม และกระทรวงการศึกษา วัฒนธรรม การกีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี รัฐบาลญี่ปุ่นดำเนินการพัฒนากฎระเบียบอย่างเข้มข้นโดยคำนึงถึงบทเรียนจาก โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิชิ ไม่ว่าจะเป็น

ในเรื่องของข้อบังคับด้านภัยพิบัติธรรมชาติ ข้อบังคับด้านการป้องกันเพลิงไหม้ ข้อบังคับการสำรองไฟฟ้าฉุกเฉิน ข้อบังคับด้านการป้องกันภัยจากแผ่นดินไหวและสึนามิ เป็นต้น โดยที่กำหนดให้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ปิดทำการชั่วคราวทั่วประเทศญี่ปุ่นรวมทั้งสิ้น ๒๐ โรง (๔๔ ยูนิต) ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับใหม่เหล่านี้ และโรงไฟฟ้าฯ ที่มีอายุมากกว่า ๔๐ ปี ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเพิ่มเติมว่าด้วยการเสื่อมสภาพของวัสดุอุปกรณ์ที่กำหนดขึ้นโดย NRA อีกด้วย

นอกเหนือจากข้อบังคับในสภาวะปกติที่กล่าวมานี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดตั้งคณะกรรมการเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ (Nuclear Emergency Preparedness Commission) พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้การประสานงานจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อเผชิญเหตุมีประสิทธิภาพอย่างสูงสุด โดยคณะกรรมการฯ นี้มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ถึงแม้ว่าโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จะมีประวัติด้านความปลอดภัยอย่างดีเยี่ยม ยกเว้นแต่การเกิดอุบัติเหตุ เพียงไม่กี่ครั้ง ซึ่งอุบัติเหตุเหล่านี้ส่งผลกระทบเชิงลบอย่างประมาณค่าไม่ได้ต่อเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ หากมีการนำบทเรียนราคาเหล่านี้มาปรับใช้อย่างถูกต้อง พลังงานนิวเคลียร์ก็น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่มีประโยชน์อย่างมหาศาลได้เช่นกัน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทร. ๐ ๒๕๙๖ ๗๖๐๐

เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์

สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

e-mail : pr@most.go.th

Facebook : sciencethailand

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ