ปัญหาของการเกิดมอดเจาะผลกาแฟระบาดในพื้นที่ปลูกกาแฟพันธุ์อราบิก้า บนพื้นที่สูงในภาคเหนือของประเทศไทยมีรายงานการระบาดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 พบว่ามีระบาดใน 4 พื้นที่หลักคือ (1) ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย (2) ตำบลเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ (3) ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และ (4) ตำบลแม่ท้อ อำเภอเมือง จังหวัดตาก การระบาดของมอดก่อให้เกิดความเสียหายด้านปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ด้านปริมาณพบว่ามีผลที่ถูกมอดเจาะ 1.50-25.25 % ส่วนด้านคุณภาพ การทำลายของมอดทำให้เมล็ดกาแฟมีแผลซึ่งเกษตรกรต้องคัดออกในกระบวนการคัดเกรดทำให้เสียน้ำหนักและรูปลักษณ์ภายนอก ซึ่งการระบาดของมอดเจาะผลกาแฟขยายไปอย่างรวดเร็วและระบาดไปเกือบทุกพื้นที่ที่มีการปลูกกาแฟโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่มีการปลูกกาแฟขนาดใหญ่และปลูกมานาน เช่น พื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง พื้นที่ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง ตำบลผาทอง อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน นอกจากพื้นที่ระบาดเพิ่มมากขึ้นแล้วยังพบว่าความเสียหายเพิ่มมากขึ้นด้วย
ที่ผ่านมา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภาคเหนือ ได้สนับสนุนทุนวิจัยพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาท้องถิ่นแก่คณะนักวิจัยจาก ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมที่สูง และภาควิชากีฎวิทยาและโรคพืช คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยเกษตรมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง ในการพัฒนาเทคโนโลยีวิธีการป้องกันกำจัดแบบผสมผสาน เพื่อลดความเสียหายของผลผลิตกาแฟและลดความรุนแรงของการระบาดโดยใช้การจัดการด้านเขตกรรม ร่วมกับ สารสกัดจากพืชธรรมชาติและใช้สารล่อมอดกาแฟชนิดของแข็ง (พัฒนาขึ้นใหม่ ได้รับอนุสิทธิบัตร) และชนิดของเหลว ตลอดจนพัฒนาหัวเชื้อรากำจัดมอดเจาะผลกาแฟที่สามารถใช้ได้ผลสำหรับตัดวงจรชีวิตของมอดตลอดทั้งปีช่วยให้ปริมาณผลผลิตของเกษตรกรมีคุณภาพและลดความสูญเสียจากมอดได้มากกว่า 50% โดยที่ผ่านมาได้มีผลการประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจ จากมหาวิทยาลัยพายัพ พบว่า ผลงานวิจัยฯ ได้ช่วยให้เกษตรกรมีผลผลิตในลักษณะที่เป็นผลกาแฟสดมีปริมาณเพิ่มขึ้น จากการสำรวจปริมาณการผลิตสารกาแฟอราบิก้าในพื้นที่ภาคเหนือนั้นพบว่ามีผลผลิตประมาณปีละ 2,500 ตัน คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 350,000,000 บาท และจากผลงานวิจัยระบุว่าการทำลายของมอดเจาะผลกาแฟนั้นทำให้เมล็ดกาแฟสูญเสียน้ำหนักประมาณ 22.03 เปอร์เซนต์ ดังนั้นอาจอนุมานได้ว่าในกรณีที่มีการระบาดของมอดเจาะผลกาแฟในพื้นที่ภาคเหนือทั้งหมดแล้วก็อาจทำให้ปริมาณการผลิตสารกาแฟอราบิก้าลดลง 550.75 ตัน ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า ถึง 77,105,000 บาท ดังนั้นหากเกษตรกรชาวสวนกาแฟที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการป้องกันการระบาดและป้องกันกำจัดมอดเจาะผลกาแฟอราบิก้าแบบผสมผสาน และได้ร่วมมือกันดำเนินการอย่างเต็มที่และในทุกพื้นที่ที่มีการปลูกกาแฟในภาคเหนือแล้วก็จะช่วยลดความเสียหายทางผลผลิตซึ่งถือว่าเป็นการได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ดร.พิเชฐฯ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ นักวิจัยศูนย์ฝึกอบรมเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน จัดทำแผนงานที่ประสบปัญหาและต้องการให้รัฐบาลให้การสนับสนุนเพื่อนำไปสู่ผลสรุปที่ชัดเจน พร้อมกับการพัฒนาการปลูกและแปรรูปกาแฟอย่างครบวงจรโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการขับเคลื่อน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปัญหาที่พบกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อหาอัตลักษณ์ของกาแฟไทยและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างยั่งยืน
แหล่งที่มาข้อมูล : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ประสานข้อมูลและข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์
ภาพข่าวและวีดิโอโดย : นางสาวพจนพร แสงสว่าง, นายรัฐพล หงสไกร
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
อีเมลล์ : pr@most.go.th
ที่มา: http://www.thaigov.go.th