ที่ประชุมรับทราบข้อเสนอนโยบายส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในภาคเอกชน (Talent Mobility) ซึ่งคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบนโยบายดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 แล้ว
สำหรับความก้าวหน้าในการดำเนินงานโครงการนำร่อง Talent Mobility สรุปดังนี้
1) จัดตั้ง Talent Mobility Clearing House ส่วนกลาง (มจธ.) และภูมิภาค 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อทำหน้าที่ประสานงานความต้องการบุคลากรวิจัยของสถาประกอบการกับหน่วยงานต้นสังกัด
2) นำร่อง Talent Mobility ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 84 คน และนักศึกษาที่เป็นผู้ช่วยวิจัย จำนวน 35 คน
3) จัดทำ MOU ระหว่าง สวทน.กับ สวทช. และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อสำรวจและวินิจฉัยความต้องการสนับสนุนด้าน วทน.ของ SMEs จำนวน 1,000 ราย และขับเคลื่อนการจับคู่บุคลากร วทน.กับสถานประกอบการใน 42 กลุ่มอุตสาหกรรม
4) จัดทำ MOU ระหว่าง สวทน.กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) โดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ เพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบาย Talent Mobility
5) สนับสนุนการจัดทำ/สนับสนุนการแก้ไขกฎระเบียบของมหาวิทยาลัยในโครงการ
6) พัฒนาฐานข้อมูลความต้องการบุคลากร วทน. ของสถานประกอบการ และฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐเพื่อใช้สืบค้นและจับคู่ (TM Database)
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th