ที่ประชุมรับทราบ ตามที่สำนักงบประมาณรายงานภาพรวมด้านงบประมาณปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 - 13 มีนาคม 2558 ว่าสถานะภาพด้านงบประมาณมีความก้าวหน้า มีการเบิกจ่ายแล้ว 1,173,149 ล้านบาทหรือร้อยละ 45.6 รายจ่ายประจำ เบิกจ่ายแล้ว จำนวน 1,059,225 ล้านบาท หรือร้อยละ 49.8 รายจ่ายลงทุน เบิกจ่ายแล้ว จำนวน 113,924 ล้านบาท หรือร้อยละ 25.3 มีโครงการที่ลงนามในสัญญาแล้วจำนวน 148,366 ล้านบาท หรือร้อยละ 33.0 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบผลการก่อหนี้รายจ่ายลงทุนในช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีงบประมาณ 2555 – 2558 ถือว่าปีงบประมาณ 2558 มีจำนวนผลก่อหนี้รายจ่ายลงทุนที่ลงนามในสัญญาแล้วสูงที่สุดในรอบ 3 ปี ทั้งนี้ ได้เร่งรัดให้มีการเบิกจ่ายโครงการที่ยังไม่ก่อหนี้ให้เร่งดำเนินการ สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะ 3 เดือนแรกมีผลการดำเนินการดังนี้
มาตรการเพิ่มรายได้แก่ชาวนาผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2557/58 วงเงิน 40,000 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2557 – 13 มีนาคม 2558 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวแล้ว จำนวน 38,855 ล้านบาท หรือร้อยละ 97.1 โครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกยาง วงเงิน 8,200 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2557- 13 มีนาคม 2558 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกยางแล้ว จำนวน 7,692 ล้านบาท หรือร้อยละ 93.8
การติดตามรายงานผลการขับเคลื่อนและเร่งรัดดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (วันที่ 12 กันยายน 2557 – 28 กุมภาพันธ์ 2558) มีการดำเนินงานตามแผนงาน โครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจ และลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนอย่างต่อเนื่องโดยส่วนราชการได้รายงานต่อที่ประชุม ดังนี้ โครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานะล่าสุดว่าเมื่อ 17 มีนาคม 2558 มีโครงการจากองค์กรชุมชนที่เสนอผ่านคณะกรรมการระดับชุมชน ศูนย์บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลรวม 2,977 ตำบล คิดเป็นร้อยละ 98 จากเป้าหมาย 3,051 ตำบล มีการพิจารณาระดับกระทรวงแล้วผ่านการอนุมัติ 707 โครงการ จาก 385 ตำบลใน 13 จังหวัด ซึ่งสำนักงบประมาณได้อนุมัติงบประมาณแล้ว 102 ล้านบาทเป็นเงินอุดหนุนเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการ 1) โครงการจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในชุมชน ร้อยละ 60 2) โครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิ6 ร้อยละ 26 3) โครงการแปรรูปผลผลิ6เพื่อสร้างรายได้ในฤดูแล้ง ร้อยละ 10 และ 4) โครงการเพื่อลดความสูญเสียผลผลิ6การเกษตร ร้อยละ 4 ซึ่งการพิจารณาโครงการทั้งหมดจาก 3,051 ตำบล และการจัดสรรงบประมาณน่าจะเสร็จสิ้น ภายในเดือนเมษายน 2558 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 3,051 ล้านบาท ทั้งนี้ การเบิกจ่ายเงินสามารถดำเนินการได้ทันภายใน 7 วันภายหลังได้รับอนุมัติโครงการและที่ประชุมได้ขอให้เร่งรัดดำเนินการ การประเมินผลมาตรการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวและผู้ปลูกยางพารา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานผลการประเมินความคืบหน้าการดำเนินงานและความพึงพอใจว่า เกษตรกรเกือบทุกรายทราบว่ามีมาตรการชดเชยรายได้ถึงร้อยละ 98 เกษตรกรทั้งสองกลุ่มนำเงินช่วยเหลือจำนวนร้อยละ 40 - 60 ของค่าเฉลี่ยเงินจำนวน 13,000 บาทต่อครัวเรือนไปใช้ในการออมเพื่อการลงทุนสำหรับการผลิตในฤดูกาลใหม่ และร้อยละ 40 เป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและการชำระหนี้สิน ประเมินว่าการชดเชยรายได้มีประโยชน์ต่อเกษตรกรที่นำไปลงทุนหมุนเวียนในชุมชนได้อย่างน้อยในรอบฤดูกาล
โครงการตลาดชุมชน เป็นนโยบายสำคัญซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ริเริ่มขึ้นโดยให้ดำเนินโครงการในทุกจังหวัด ทุกอำเภอ และให้ทำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 เป็นต้นมา ตอบสนองนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้ สร้างโอกาสแก่เกษตรกรรายย่อยให้มีพื้นที่จำหน่ายสินค้า ขณะที่ประชาชนก็จะได้เข้าถึงสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 2,350 แห่ง ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการตลาดเกษตรกรจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพและมีมาตรฐาน GMP โดยมีแผนจะดำเนินการ 1 แห่งในทุกจังหวัด ปัจจุบันดำเนินการแล้วจำนวน 84 แห่ง
กระทรวงศึกษาธิการขับเคลื่อนงานด้านการเร่งสร้างโอกาส อาชีพ และการมีรายได้ที่มั่นคงแก่ผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษาทวิภาคีให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยร่วมกับหอการค้าเยอรมัน - ไทย กลุ่มมิตรผล นำร่องผลิตกำลังคนรองรับภาคอุตสาหกรรม การเกษตร และภาคบริการในวิทยาลัยเทคนิคและวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี 6 แห่ง
การจัดทำกรอบการรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในรอบ 6 เดือน มีกรอบการนำเสนอในด้านการช่วยเหลือเกษตรกร การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การรับมือกับปัญหาภัยแล้ง การสร้างตลาดชุมชน ท้องถิ่น การพัฒนาสาธารณูปโภค การจัดระเบียบแรงงาน การจัดระเบียบสิ่งแวดล้อม การจัดระเบียบสังคม การรักษาความสงบเรียบร้อย การป้องกันการใช้ความรุนแรง เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของประเทศ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยจะนำเสนอให้ทราบถึงผลการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค และแผนงานในระยะต่อไป ครอบคลุม 6 ด้าน ได้แก่ ด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม วิจัย และจิตวิทยา ด้านกฎหมายและการป้องกันการทุจริต ด้านการต่างประเทศ และด้านการแก้ไขปัญหาภาคประชาชน ตลอดจนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล 11 ข้อ รวมทั้งการปฏิรูปประเทศ และการสร้างความปรองดองสมานฉันท์
ประเด็นติดตามการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญซึ่งส่งผลต่อความเป็นอยู่และเป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนมีความคืบหน้าการดำเนินการดังนี้ ด้านการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ กระทรวงที่เกี่ยวข้องรายงานมาตรการแก้ไขปัญหาและความพร้อมในการบูรณาการการดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนถึงระดับหมู่บ้าน รวม 6,708 หมู่บ้าน ดังนี้ 1) การให้ความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์เครื่องมือ ซึ่งมีความพร้อม เช่น ชุดเจาะบ่อบาดาล 86 ชุด ชุดซ่อมแซมประปา เครื่องสูบน้ำ 44 ชุด ชุดปรับปรุงคุณภาพน้ำเคลื่อนที่ 18 ชุด จุดแจกน้ำถาวร 87 แห่ง ระบบน้ำดื่มสะอาดในโรงเรียนทั่วประเทศ 2,631 ระบบ รถบรรทุกน้ำ 109 คัน ชุดสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องสูบน้ำ 432 เครื่อง 2) การเจาะบ่อบาดาล 1,170 แห่งจากเป้าหมาย 1,321 แห่ง การเจาะน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 610 แห่งจากเป้าหมาย 693 แห่ง การเจาะน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้โรงเรียนทั่วประเทศ 283 แห่งจากเป้าหมาย 323 แห่ง เป็นต้น มีประชาชน ได้รับประโยชน์ 16,000 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 76,000 ไร่
มาตรการกระตุ้นและการแก้ไขปัญหาการส่งออก ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ กระทรวงพาณิชย์จึงได้เร่งผลักดันการส่งออกเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ขยายโอกาสทางการค้าในตลาดศักยภาพและกระจายความเสี่ยงออกไปตลาดหลัก (สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป) โดยมีมาตรการระยะสั้น เช่น เร่งรัดการทำการตลาดเชิงกลยุทธ์ เจาะตลาดในเมืองใหม่ ๆ เร่งขยายช่องทางทางการค้า การเจรจาเชิงรุกเพื่อเปิดตลาดและแก้ไข ป้องกันปัญหาด้านการค้าระหว่างประเทศ ส่วนระยะยาวจะให้มีการปฏิรูปโครงสร้างการส่งออกเพื่อวางรากฐานและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ผลักดันสินค้าและบริการที่มีศักยภาพ ตลอดจนมีการจัด Roadshow การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และสนับสนุนตลาดสินค้าชายแดนด้วย
การบรรเทาแก้ไขปัญหาหมอกควัน ซึ่งอยู่ในความห่วงใยมีการบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้ มีการจัดกำลังชุดดับไฟป่าจากจังหวัดอื่น จำนวน 35 ชุด รวมกว่า 400 นายให้มากระจายกำลังปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ประสบปัญหาหมอกควันไฟป่าใน 10 จังหวัดภาคเหนือ การเอาน้ำไปช่วยในพื้นที่โดยนำรถบรรทุกน้ำและฉีดพ่นน้ำแบบต่าง ๆ มาประจำพร้อมปฏิบัติงาน 70 คัน การเฝ้าติดตามสภาพอากาศพร้อมทำฝนหลวง การดำเนินการทางกฎหมายกับผู้เผาป่า ทั้งนี้ มีความร่วมมือประสานการปฏิบัติระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th