นายกรัฐมนตรีขอให้ผู้ประกอบการ SMEs มาขึ้นทะเบียนเพื่อจะได้เข้าสู่ระบบและรับสิทธิประโยชน์การส่งเสริมต่าง ๆ

ข่าวทั่วไป Friday March 20, 2015 15:39 —สำนักโฆษก

ที่ประชุม SMEs อนุมัติ 6 โครงการส่งเสริม SMEs เร่งด่วน วงเงิน 570 ล้านบาท พร้อมสร้างฐานข้อมูลพัฒนาศักยภาพและศูนย์บริการ SMEs และเดินหน้าสร้างเครือข่าย SMEs 18 กลุ่มจังหวัด เชื่อมั่นจะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่าย และส่งประโยชน์สู่ผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ

วันนี้ (20มี.ค.58) เวลา 13.30 น.ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ครั้งที่ 1/2558 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรี ประธานแจ้งที่ประชุมรับทราบว่า วันนี้เป็นการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ครั้งที่ 1/2558 ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงที่จะต้องเร่งขับเคลื่อนในทุกมิติ เพราะเรื่อง SMEs เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยได้มีการหารือกันในหลายระดับทั้งในเวทีต่างประเทศ อาทิ เรื่องการสร้างเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมธุรกิจ SMEs ให้สามารถเข้าถึงกองทุน และโอกาส ฉะนั้นจำเป็นจะต้องสร้างการรับรู้ในเชิงรูปธรรมให้มากขึ้น ในเต่ละดับมีความเข้มแข็งอย่างไร มีจำนวนเท่าไร และต้องให้มีการจัดระเบียบโดยเร็ว เพื่อรัฐบาลจะเข้าไปขับเคลื่อนผลักดันสร้างห่วงโซ่นำไปสู่การเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบและครบวงจร ทั้งนี้มีความคาดหวังว่าจะต้องเร่งส่งเสริม SME ในระยะที่ 1 ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อส่งเสริม SMEs ให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีการหารือและพิจารณาในเรื่องของการปรับโครงสร้างสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยจะมีการปรับรูปแบบของ สสว. ใหม่ เป็นลักษณะในเรื่องของการขับเคลื่อน การกำหนดจัดระเบียบ การจัดทำฐานข้อมูลต่าง ๆ ให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมาข้อมูลไม่มีความสมบูรณ์ทำให้นำไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น วันนี้ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบในหลักให้มีการปรับโครงสร้างสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ใหม่ทั้งหมด โดยสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการในช่วงนี้คือการคัดเลือก SMEs ที่จะต้องเร่งส่งเสริมในระยะแรกเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ได้ภายในปีนี้ ประมาณ 77 แห่ง การจัดตั้งศูนย์บริการธุรกิจ SMEs แบบ One Stop Service ให้ได้โดยเร็ว เพื่อสร้างการรับรู้และการเข้าถึงทั้งเรื่องรายละเอียด ระเบียบและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ตลอดจนช่องทาง หรือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นต้น

สำหรับสิ่งที่ฝากที่ประชุมไว้ในฐานะนายกรัฐมนตรี คือขอให้มีการดำเนินการให้ผู้ประกอบการ SMEs มาขึ้นทะเบียนให้เรียบร้อย โดยรัฐบาลจะดูแลสิทธิประโยชน์ให้กับ SMEs ที่ขึ้นทะเบียนในช่วงนี้อย่างเต็มที่ เพราะขณะนี้มี SMEs ขึ้นทะเบียนเพียงประมาณ 6 แสนกว่าราย จากทั้งหมดประมาณ 2 ล้านกว่าราย ทั้งนี้หากไม่มาขึ้นทะเบียนก็ไม่อยู่ในกรอบกติกาที่รัฐบาลจะสามารถดูแลและส่งเสริมได้ ดังนั้นจึงขอให้ผู้ประกอบการ SMEs มาขึ้นทะเบียนเพื่อที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ในด้านการส่งเสริมต่าง ๆ เช่น เรื่องเงินทุนส่งเสริม SMEs เป็นต้น รวมทั้งจะได้มีการจัดระเบียบและดำเนินให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการแบ่งการดำเนินการ SMEs เป็น 4 ระดับ 1) start ใหม่ 2) ขยายในประเทศ 3) ขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศ และ4) ที่กำลังฟื้นฟูกิจการ โดยรัฐจะดูแลให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทั้งนี้จะเริ่มดำเนินการระยะแรกในส่วนของ SMEs ที่ดำเนินกิจการดีอยู่แล้วให้สามารถขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นและมีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกต่อไป

ด้าน นางสาววิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้กล่าวถึงการที่จะให้ผู้ประกอบการ SMEs มาขึ้นทะเบียนเพื่อจะได้เข้าสู่ระบบและได้รับสิทธิประโยชน์ในด้านการส่งเสริมต่าง ๆ ว่า ขณะนี้รัฐบาลมีมาตรการที่จะให้สิทธิประโยชย์กับ SMEs ที่ขึ้นทะเบียน เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการแล้ว การค้ำประกันสินเชื่อ ซึ่งในอนาคตหาก SMEs ไม่เข้าสู่ระบบโดยมาขึ้นทะเบียนหรือจดทะเบียนเป็นนิติบุคล หรือเป็นสมาชิก สสว. ตลอดจนจดทะเบียนการค้าก็จะทำให้ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันมี SMEs ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จำนวน ประมาณ 6 แสนรายเท่านั้น ขณะที่เป็นสมาชิก สสว. จำนวน 90,000 ราย ทั้งนี้การที่ต้องการให้ SMEs ได้เข้าสู่ระบบดังกล่าวก็เพื่อที่รัฐจะได้เข้าถึงผู้ประกอบการ SMEs และสามารถติดต่อสื่อสารในเรื่องข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อ SMEs ทำให้รัฐสามารถที่จะดูแลได้ครอบคลุมทุกลุ่ม

พร้อมกันนี้ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการส่งเสริม SMEs เป็นอย่างมาก และเห็นว่า SMEs เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจจากทุกเวทีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายที่จะส่งเสริม SMEsให้มีความเข้มแข็ง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และบริการต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา SMEs หาแนวทางที่จะจูงใจให้ SMEs เข้ามาขึ้นทะเบียนให้มากขึ้น พร้อมทั้งพิจารณาจัดกลุ่มธุรกิจให้ครบวงจรธุรกิจ ตั้งแต่ กลุ่มเริ่มต้น กลุ่มเติบโต กลุ่มที่ส่งออก และกลุ่มที่ต้องฟื้นฟู เพื่อจัดมาตรการส่งเสริมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ได้มีการอนุมัติโครงการสำคัญต่อการส่งเสริม SMEs ซึ่ง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) นำเสนอ ด้วยการจัดสรรเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ดำเนินโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ส่งเสริม SMEs ระยะเร่งด่วน ปี 2558 เพิ่มเติมและโครงการตามนโยบายขับเคลื่อน SMEs ของรัฐบาล รวมจำนวน 6 โครงการ วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 570 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นงานสนับสนุนการจัดทำนโยบายและแผนการส่งเสริม SME ที่สำคัญ และเป็นกิจกรรมที่สามารถพัฒนายกระดับ SMEs ให้สามารถเติบโตได้ตามศักยภาพ ประกอบด้วย

1.โครงการจัดทำฐานข้อมูล SMEs แห่งชาติ วงเงิน 40 ล้านบาท เป็นการจัดทำระบบฐานข้อมูล SMEs ของประเทศ ให้อยู่ในรูปแบบ Business Intelligence (BI) โดยบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้มีข้อมูลของ SMEs ไม่น้อยกว่า 2 ล้านราย ทั่วประเทศ เพื่อใช้กำหนดนโยบาย ผลการส่งเสริม รวมถึงติดตามสถานการณ์และกระทบจากปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับSMEs 2.โครงการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ SME วงเงิน 42 ล้านบาท เป็นการออกแบบระบบการขึ้นทะเบียนและกำหนดสิทธิประโยชน์ให้กับ SMEs ที่ขึ้นทะเบียน ซึ่งกำหนดเป้าหมายขึ้นทะเบียนให้ได้ไม่น้อยกว่า 100,000 ราย ในปีแรกนี้

3.โครงการสนับสนุนและพัฒนา SMEs ที่มีศักยภาพสูง (SME National Champion) วงเงิน 60 ล้านบาท โดยการคัดเลือกSMEs ที่มีศักยภาพทั่วประเทศ เข้ารับการประเมินในระบบ Scoring และทำการส่งเสริมให้เติบโตแบบก้าวกระโดดผ่านการให้ความช่วยเหลือแบบ Fast Track เพื่อสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ สามารถผลักดันสินค้าออกสู่สากลและเป็นผู้สร้างนวัตกรรมใหม่ให้กับประเทศ 4.โครงการสุดยอด SMEs จังหวัด (SME Provincial Champions) ซึ่งเป็นโครงการเร่งด่วนตามนโยบายขับเคลื่อนการส่งเสริม SMEs วงเงิน 87 ล้านบาท เพื่อสร้างต้นแบบธุรกิจที่มีศักยภาพให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับจังหวัด และสนับสนุนให้มีการถ่ายทอดการจัดการองค์ความรู้ธุรกิจสู่ SMEs ในภูมิภาค โดยการคัดเลือกผู้ประกอบการ SME ที่มีศักยภาพในการตลาดจากแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ นำมาเข้าสู่กระบวนการพัฒนาของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะจัดให้มีนักวินิจฉัย ที่ปรึกษา การฝึกอบรม กิจกรรมส่งเสริมการตลาด และเชื่อมโยงเข้าสู่บริการที่ภาครัฐมีอยู่ เช่น สินเชื่อ การร่วมลงทุน การพัฒนาเทคโนโลยี ฯลฯ

5.โครงการสนับสนุนเครือข่าย SMEs 18 กลุ่มจังหวัด วงเงิน 309 ล้านบาท เป็นการพัฒนาตามระดับศักยภาพ สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของครือข่าย SME (Cluster) ระดับพื้นที่ จำนวน 54 เครือข่าย ให้มีความเข้มแข็งเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมดำเนินการรวม 9 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมการข้าว กรมหม่อนไหม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย วงเงินรวม 309 ล้านบาท คาดว่าจะมีผู้ประกอบการ SMEs ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 10,000 ราย และ 6.การจัดตั้งศูนย์ให้บริการ SMEs ครบวงจร ในรูปแบบ One Stop Service Centerวงเงิน 32 ล้านบาทที่สามารถให้บริการข้อมูลรอบด้าน บริการที่ปรึกษาแนะนำ รวมถึงการฝึกอบรมที่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะและอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูล ความรู้ ซึ่งจะดำเนินโครงการนำร่องในกรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ได้อนุมัติหลักการดำเนินโครงการเพิ่มเติม จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการ 1 มหาวิทยาลัย 1 อาชีวะ/100SMEs 2.โครงการศูนย์เรียนรู้ธุรกิจ SMEs Online และ 3.โครงการ Machine Fund ทั้งนี้ ให้ สสว. ดำเนินการจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อนำเสนอขอความเป็นชอบจากคณะกรรมการฯ ในครั้งต่อไป

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ข้อมูล:สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ