ผลประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ

ข่าวทั่วไป Thursday March 19, 2015 16:07 —สำนักโฆษก

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ครั้งที่ 6/2558 เมื่อวันพุธที่ 18 มีนาคม 2558 ว่าที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการปรับหลักเกณฑ์กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และโครงการคุรุทายาท

ศึกษาธิการ – พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ครั้งที่ 6/2558 เมื่อวันพุธที่ 18 มีนาคม 2558 ว่าที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการปรับหลักเกณฑ์กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และโครงการคุรุทายาท

การปรับหลักเกณฑ์กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

จากกรณีที่คณะกรรมการ กยศ. จะกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ให้ผู้กู้ต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.0 และอาจมีการพิจารณาเพื่อนำไปปรับใช้กับผู้กู้กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ด้วยนั้น

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กองทุนดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้เรียนที่มีฐานะยากจน ซึ่งจะมีทั้งผู้ที่มีผลการเรียนดีและไม่ดี สำหรับผู้ที่มีผลการเรียนไม่ดี อาจไม่ใช่เพราะไม่สนใจเรียนเพียงอย่างเดียว แต่มีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีความจำเป็นทางครอบครัว ต้องช่วยพ่อแม่ทำงานจนไม่มีเวลาเตรียมตัวสอบ ดังนั้นการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อกระตุ้นให้ผู้กู้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน จะต้องไม่แข็งตัวจนเกินไป สามารถอะลุ่มอล่วยได้แล้วแต่กรณี เช่น กรณีที่ผู้กู้มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่ถึง 2.0 แต่มีความจำเป็นต้องกู้ยืม ก็สามารถยื่นเรื่องถึงสถาบันการศึกษาเพื่อชี้แจงเหตุผลความจำเป็น โดยสถาบันการศึกษาจะเป็นผู้พิจารณา

ย้ำว่าประเด็นสำคัญของการจัดตั้งกองทุนฯ คือ การให้เด็กทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน หากมีการสนับสนุนทุนการศึกษาได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อผู้กู้สำเร็จการศึกษาแล้วไม่ชำระเงินกู้ยืม ก็กลายเป็นปัญหาของกองทุนฯ

โครงการคุรุทายาท

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการดำเนินโครงการคุรุทายาท ซึ่งจะนำกลับมาดำเนินการอีกครั้งหนึ่งในปีการศึกษา 2558 โดยได้มอบให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมว่า การดำเนินการที่ผ่านมามีปัญหาหรือจุดอ่อนอย่างไร เพื่อนำมาปรับแก้ ลดช่องว่าง และจุดอ่อนให้เหลือน้อยที่สุด เช่น หลักเกณฑ์เดิมกำหนดให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.0 ทุกภาคการศึกษา หากไม่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าวก็ต้องออกจากโครงการฯ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะลดหลักเกณฑ์ลงมา แต่อาจจะไปพิจารณาในรายละเอียดว่ากลุ่มสาระวิชาใดที่พอจะลดหย่อนเกณฑ์ลงมาได้ หรือกลุ่มสาระวิชาที่มีความจำเป็นก็จะคงหลักเกณฑ์เดิมอยู่ เป็นต้น

นอกจากนี้ อีกประเด็นปัญหาหนึ่งคือ เรื่องของอัตราที่จะบรรจุภายหลังการสำเร็จการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าเมื่อผู้เรียนจนการศึกษาแล้ว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไม่ได้เตรียมอัตราไว้ให้ ทำให้ไม่สามารถบรรจุได้และต้องไปทำงานอื่น ดังนั้นจะต้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวอีก โดยจะมีการเตรียมอัตราที่ว่างจากอัตราเกษียณในแต่ละปีไว้รองรับทุกราย รวมทั้งต้องพิจารณารายละเอียดในเรื่องของค่าใช้จ่าย การมอบทุนการศึกษา และการรับประกันการมีงานทำ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความขาดแคลนครู ในพื้นที่ห่างไกลหรือทุรกันดาร ก็จะพยายามนำนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่หรือภูมิลำเนานั้นมาเข้าโครงการ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วก็กลับไปปฏิบัติงานในภูมิลำเนาของตน

สำหรับอัตราบรรจุ คาดว่าได้มีการกำหนดจำนวนไว้ประมาณ 58,000 อัตรา รองรับการดำเนินโครงการทั้งสิ้น 10 รุ่น ภายใน 15 ปี (ครอบคลุมจำนวนปีที่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ เริ่มศึกษาจนกระทั่งสำเร็จการศึกษา) โดยขอให้พิจารณาจำนวนอัตราบรรจุใหม่ให้สอดคล้องกับจำนวนครูที่จะเกษียณ เนื่องจากมีข้อมูลว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ครูในสังกัด สพฐ.จะเกษียณประมาณ 2 แสนคน และ สกศ.ได้คำนวณแล้วว่าจะต้องใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาทในการเริ่มดำเนินโครงการ โดยจะมุ่งเน้นในพื้นที่ที่มีการขาดแคลนครู พื้นที่ห่างไกลหรือทุรกันดารก่อน เมื่อดำเนินการจัดทำรายละเอียดครบถ้วนแล้ว ก็จะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการ เพื่อเริ่มดำเนินการได้ในปีการศึกษา 2558

กุณฑิกา พัชรชานนท์

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ