หมอรัชตะ ดันนโยบายหมอครอบครัวเป็นแนวรุกสุขภาพ ที่พึ่งชุมชน ให้ได้ 30,000 ทีมในปีนี้

ข่าวทั่วไป Thursday March 19, 2015 16:10 —สำนักโฆษก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยนโยบายหมอครอบครัวคืบหน้า รอบ 3 เดือน มีเกือบ 15,000 ทีม ตั้งเป้าให้ได้ 30,000 ทีมปีนี้ ผลการออกเยี่ยมบ้านดูแลผู้สูงอายุติดเตียง ผู้พิการ และผู้ป่วยระยะสุดท้ายชีวิต รวม 55,000 คน พบได้ผลดี มีช่องทางปรึกษาหมอตลอด 24 ชั่วโมง ครอบครัวอุ่นใจ คลายกังวลผู้ดูแล

วันนี้ (19 มีนาคม 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ในการลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มคุณภาพบริการสุขภาพของประชาชน ว่าได้เร่งรัดการพัฒนาทีมหมอครอบครัว (Family Care Team) ให้ครอบคลุมทุกครัวเรือน เป็นการปฏิรูประบบสุขภาพในเขตเมืองและชนบทครั้งใหญ่ โดยจัดทีมหมอครอบครัวจากรพ.สต. ไปดูแลถึงบ้าน ทำงานร่วมกับอสม. อาสาสมัครอื่นๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทีมสหวิชาชีพจากโรงพยาบาลชุมชน มีหมายเลขโทรศัพท์ปรึกษาได้ 24 ชั่วโมง และมีระบบการส่งต่อจากชุมชนไปยังโรงพยาบาลที่ไร้รอยต่อ ผลการดำเนินงานหลังเริ่มโครงการธันวาคม 2557 ทั่วประเทศมีทีมหมอครอบครัวแล้ว 14,957 ทีม และดูแลเยี่ยมบ้านกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษรวม 54,959 คน ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุที่ป่วยช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ผู้พิการที่ต้องมีคนช่วยดูแล และผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต

ศ.นพ.รัชตะกล่าวต่อว่า จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานในหลายจังหวัด อาทิ สุราษฎรธานี ปัตตานี นครศรีธรรมราช บุรีรัมย์ นครราชสีมา สระบุรี ลพบุรี พบว่า ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ได้รับการดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น ปรับสภาพที่อยู่อาศัยให้ปลอดภัย ทั้งยังเกิดนวัตกรรมการดูแลผู้ป่วยที่สอดคล้องกับบริบทมากมาย อาทิ ลพบุรีมีนาฬิกาชีวิตย้ำเตือนการพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยผู้พิการ ป้องกันแผลกดทับ จัดยาเป็นชุดให้ผู้ดูแลเข้าใจง่าย ผู้ป่วยจึงได้รับยาถูกต้องตรงตามเวลา ลดการเข้าโรงพยาบาลจากโรคแทรกซ้อนกว่าร้อยละ 50 เป็นต้น ตั้งเป้าหมายสร้างทีมหมอครอบครัวไม่ต่ำกว่า 30,000 ทีมภายในสิ้นปี 2558

ด้านนายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ทีมหมอครอบครัวถือเป็นยุทธศาสตร์การทำงานสมัยใหม่ ช่วยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรสาธารณสุข ประชาชน อาสาสมัครสาธารณสุข อาสาสมัครอื่นๆ และองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ ช่วยเหลือกันในการดูแลประชาชน มั่นใจว่าจะทำให้งานสาธารณสุขในชุมชนและอำเภอเข้มแข็ง เป็นด่านหน้าของการดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตประชาชน สร้างความอุ่นใจแก่ประชาชน และสร้างความพร้อมในการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุที่ควรเน้นไปที่การดูแลในชุมชนได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ผลวิจัยเรื่องการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวภายใต้วัฒนธรรมไทย ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2556 พบว่า การพึ่งพิงระยะยาวของผู้สูงอายุไทยมาจาก 4 สาเหตุใหญ่ คือ อัมพฤกษ์อัมพาต สมองเสื่อม โรคเรื้อรัง และชราภาพ การดูแลส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายในครอบครัว ผู้ดูแลเป็นเพศหญิง ราว 3 ใน 4 ต้อง ทำงานด้วย ราว 1 ใน 9 ต้องดูแลมากกว่า 1 คน ผู้ดูแลบางคนจำต้องลาออกจากงาน รายได้จึงลด ขณะที่รายจ่ายเพิ่ม เกิดความเครียดและปัญหาขัดแย้งภายในครอบครัวตามมา การดูแลส่วนใหญ่ทำได้เพียงการช่วยเหลือกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ ป้อนข้าว การฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยเกิดขึ้นน้อย จึงมั่นใจว่าการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทีมหมอครอบครัวจะสร้างหลักประกันคุณภาพของการดูแลที่บ้าน เติมเต็มช่องว่างของระบบบริการในชุมชน และเพิ่มความอุ่นใจแก่ผู้ดูแลเพราะมีที่ปรึกษาทุกเวลา

19 มีนาคม 2558

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ