ผลการดำเนินงานเพียงสิ้นเดือน กพ. 2558
กำไรสุทธิ เดือน กพ. 2558 เท่ากับ 146 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน มค. 2558 ที่มีกำไรสุทธิ 98 ล้านบาท และเกินเป้าหมายที่ธนาคารตั้งไว้มีกำไรสุทธิเดือนละ 100 ล้านบาท ทั้งนี้ ผลกำไรที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากธนาคารได้ข้อยุติเรื่องการร่วมลงทุนในอดีตทำให้สามารถนำผลกำไรจากส่วนนี้มารวมอยู่ด้วย โดยกำไรสุทธิรวม 2 เดือนของธนาคาร (มค. – กพ.) เท่ากับ 244 ล้านบาท
ด้าน NPLs เดือน กพ. 2558 ลดลงจากเดือน มค. 2558 ประมาณ 773 ล้านบาท โดย ณ สิ้น กพ. NPLs เท่ากับ 30,899 ล้านบาท (คิดเป็น 36.24%ของยอดสินเชื่อรวม) และลดจากเดือน มิย. 2557 ที่มียอด NPLs เท่ากับ 35,167 ล้านบาท (คิดเป็น 39.92%ของยอดสินเชื่อรวม) หรือลดลงประมาณ 4,268 ล้านบาท ทั้งนี้ สาเหตุเนื่องจากธนาคารปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ที่ดำเนินกิจการอยู่ได้ผล ช่วยประคองกิจการให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ส่งผลให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ให้กับธนาคารได้อย่างสม่ำเสมอ โดยจ่ายดอกเบี้ยในอัตราไม่ต่ำกว่า MLR รวมถึงจ่ายเงินต้นได้บ้างด้วย ซึ่งการช่วยรักษาลูกหนี้ให้ดำเนินกิจการต่อไปได้นี้ ทำให้สามารถรักษาการจ้างงานได้ถึง 13,888 คน นอกจากนี้ ธนาคารได้ขายหนี้กองตะวันออกไปเรียบร้อยแล้ว และกำลังยื่นซองประกวดราคาขายหนี้กองกรุงเทพและปริมณฑล ที่มียอดหนี้คงค้างประมาณ 1,600 ล้านบาท
ด้านสินเชื่อ ธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อใหม่ในเดือน กพ. 2558 ประมาณ 3,172 ล้านบาท รวม 2 เดือน มค.-กพ. 2558 อนุมัติสินเชื่อรวมประมาณ 4,878 ล้านบาท โดยทั้งหมดเป็นสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนผู้ประกอบการประมาณ 2,446 ราย และยอดเบิกจ่าย ประมาณ 4,471 ล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้าง เท่ากับ 85,260 ล้านบาท ซึ่งยอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือน มค. เนื่องจาก ลูกค้ารายใหญ่ ได้ชำระหนี้คืน และธนาคารไม่ได้เชิญชวนให้เพิ่มวงเงินสินเชื่อใหม่
นอกจากนี้ ธนาคารได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ (MLR) ลง 0.25% จากเดิม 7.25% ต่อปี เหลือ 7% ต่อปี ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2558เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อกำไรของธนาคารบ้างในอนาคต เนื่องจากการลดดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นการลดเงินกู้เพียงด้านเดียว ส่วนด้านเงินฝากไม่ได้มีการลดดอกเบี้ยแต่อย่างใด
สำหรับการทำพันธกิจต่อไปของธนาคาร ตามมาตรการช่วย SMEs ที่ ครม. อนุมัติ เมื่อวันที่ 17 มีค.2558 ธนาคารมีส่วนร่วม ดังนี้
การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 15,000 ล้านบาท ซึ่งจะคิดดอกเบี้ยจาก SMEs ในอัตรา 4% ต่อปี และอยู่ระหว่างขอให้กระทรวงการคลังชดเชยให้เอสเอ็มอีแบงก์ 3% ซึ่งจะช่วยลดภาระให้แก่ SMEs ในช่วงเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว และไม่ตัดโอกาส SMEs ที่มีประวัติค้างชำระในเครดิตบูโร ที่มีความสุจริตใจให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจใหม่ได้อีกครั้ง โดยเป้าหมายของการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ SMEs ในระยะเริ่มแรกที่มีนวัตกรรม SMEs ขนาดเล็กที่มีศักยภาพจะเติบโตเป็นขนาดกลางได้ และ SMEs ที่ประสงค์จะค้าขายหรือลงทุนในกลุ่มประเทศ AEC
นอกจากนั้น ยังมีอีก 2 เรื่องที่สำคัญ ซึ่ง สสว. เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง และ เอสเอ็มอีแบงก์ คงมีส่วนเข้าร่วมมือด้วย โดย สสว. จะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ สสว. ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้แก่
โครงการ Machine Fund ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเปลี่ยนเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งโครงการนี้ สสว.เป็นผู้รับผิดชอบ และเปิดให้ธนาคารทุกแห่งเข้ามีส่วนร่วม ซึ่งทางเอสเอ็มอีแบงก์ ก็จะเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย
โครงการจัดตั้ง Website ในลักษณะ E-commerce ร่วมกับ สมาพันธ์ SMEs ไทย และ สสว. เพื่อให้ SMEsรายย่อยขายสินค้าแบบ Business to Business ผ่านช่องทาง Online ในลักษณะเดียวกับ Website ของ Alibaba.com โดยมีระบบการชำระเงินที่เชื่อถือได้ ทั้งนี้ เนื่องจาก SMEs รายย่อยมีข้อจำกัดในเรื่องช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า ในร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้า ควรช่วยให้มีการขายแบบ Online ได้ เพราะเป็นวิธีที่สะดวก และมีต้นทุนค่าการตลาดต่ำที่สุด โดยในขั้นแรกจะให้ครอบคลุมตลาดในประเทศก่อน และจะต่อยอดไปในตลาด AEC รวมถึง การใช้ Website ในการหาผู้ร่วมลงทุน หรือ ผู้ซื้อสินค้าในจำนวนไม่มากนักในตลาดเพื่อนบ้าน
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม โทร.02-265-4564-5
ที่มา : กระทรวงการคลัง
ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th