พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในการประชุมร่วมระดับรัฐมนตรีไทย – เมียนมา ว่า จากนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องความเป็นอาเซียนของทั้ง 10 ประเทศสมาชิกที่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน จะต้องมีความเข้าใจในปัญหาของกันและกันเป็นอย่างดี ดังนั้น การแก้ไขปัญหาต่างๆ จึงต้องร่วมมือกันช่วยแก้ไขบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเท่าเทียม ทั้งนี้ ในการที่จะร่วมกันเป็นประชาคมอาเซียนและก่อนที่จะถึงปลายปี 2558 และหลังจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2559 สิ่งที่ 10 ประเทศในอาเซียนจะต้องทำงานร่วมกันคือ การมีความร่วมมือทางวิชาการด้านแรงงาน อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมที่ได้สรุปในครั้งนี้ถือเป็นแนวทางที่นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ในอนาคตต่อไป
“การแก้ไขปัญหาเรื่องแรงงานเมียนมาในประเทศไทย ทุกฝ่ายอย่าได้เป็นกังวลกับปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทุกปัญหาที่เคยมีมาในอดีตหรืออาจจะมีขึ้นหลังจากวันนี้ แต่ขอให้ทุกฝ่ายทำให้ทุกปัญหาเป็นเรื่องที่จะแก้ได้ง่ายบนพื้นฐานของการเข้าใจกัน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า ในอดีตประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกแรงงาน แต่ ณ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นทั้งผู้ส่งออกแรงงานและผู้นำเข้าแรงงาน หากประเทศไทยและเมียนมาได้มีความร่วมมือกัน คงจะได้มีการผ่อนปรนการนำเข้าแรงงานที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนเข้ามาโดยใช้บัตรผ่านแดน (border pass) ณ วันนี้ได้มีการศึกษาร่วมกันด้วยความร่วมมืออย่างใกล้ชิด การเข้ามาลักษณะพิเศษในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษของประเทศไทยไม่น่าจะมีปัญหามากนัก นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่ต้องมีความร่วมมือต่อกัน นั่นคือ ร่วมมือกันทางด้านมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อวางเป้าหมายไปสู่อนาคตร่วมกันว่าเราจะมีมาตรฐานฝีมือแรงงานที่เป็นมาตรฐานของแต่ละประเทศและเป็นมาตรฐานร่วมในอาเซียนและเป็นมาตรฐานในระดับสากลต่อไป
ด้าน H.E. U Htin Aung รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมเมียนมา กล่าวว่า จากผลการประชุมในครั้งนี้นับว่าประสบความสำเร็จได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งจากการที่ประเทศไทยขยายเวลาการตรวจสัญชาติให้แรงงานเมียนมาโดยต่ออายุให้กับผู้ที่ถือ ทร.38 (บัตรสีชมพู) เป็นระยะเวลา 1 ปี ในฐานะตัวแทนของประเทศเมียนมาขอขอบคุณทางการไทยอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ เมียนมาจะส่งทีมงาน 5 ทีมให้บริการประจำศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (OSS) และจัดทีมงานเฉพาะกิจ 21 ทีมเข้ามาในไทยเพื่อเก็บข้อมูลส่วนบุคคลส่งพิสูจน์สัญชาติสำหรับแรงงานเมียนมาที่ถือบัตรสีชมพู โดยจะเริ่มดำเนินการประมาณเดือนพฤษภาคม - พฤศจิกายน 2558 และหากบุคคลใดที่ยังไม่ผ่านหรืออยู่ระหว่างรอการตรวจสอบจะขอออกเอกสารรับรองให้เป็นหนังสือสำคัญประจำตัว (Certificate of Identity – C.I) ให้ภายในวันที่ 1 เมษายน 2559
“คณะเฉพาะกิจที่จะมาเก็บข้อมูล จะส่งข้อมูลรายชื่อคนเหล่านั้นไปให้เจ้าหน้าที่ของประเทศไทย ทางกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมเมียนมาจะให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศไทยตลอดไป ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย สิ่งใดที่แก้ไขได้ในการหารือในครั้งนี้ทางเมียนมาจะนำเข้า ครม. เพื่อที่จะแก้ไขให้การดำเนินงานสะดวกที่สุดต่อไป” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมเมียนมา กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จัดประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงาน เพื่อติดตามผลการดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียน และตรวจสัญชาติแรงงานเมียนมาในประเทศไทย พร้อมสร้างการรับรู้ร่วมกันเรื่องการจัดระบบแรงงานกับการขยายเวลาการตรวจสัญชาติแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา และการดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทะเล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๘ รวมถึงทบทวนและปรับแก้ไขบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงาน (Memorandum of Understanding : MOU) ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยมี นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน และคณะเป็นผู้แทนฝ่ายไทย Mr. U Myo Aung อธิบดีกรมแรงงาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม และคณะเป็นผู้แทนฝ่ายพม่าเข้าร่วมการประชุม
กระทรวงแรงงาน “บริการด้วยใจ เพื่อคนไทยมีงานทำ”
ที่มา: http://www.thaigov.go.th