นายกรัฐมนตรีแนะน้อมนำแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแนวทางในการบริหารจัดการเพื่อใช้น้ำอย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Monday March 23, 2015 13:45 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงานเนื่องในสัปดาห์ทรัพยากรน้ำแห่งชาติและวันน้ำโลก ประจำปี 2558

วันนี้ (23 มีนาคม 2558) เวลา 13.30 น. ณ ห้องพารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพมหานคร พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงานเนื่องในสัปดาห์ทรัพยากรน้ำแห่งชาติและวันน้ำโลก ประจำปี 2558 โดยมี คณะรัฐมนตรี คณะทูตานุทูต ผู้แทนจากองค์การสหประชาชาติ คณะกรรมการลุ่มน้ำ 25 ลุ่มน้ำหลัก ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกล่าวรายงานว่า น้ำเป็นทรัพยากรที่เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาปัจจุบันที่มีประชากร และการขายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ทั่วทุกภูมิภาคของโลกประปัญหาเรื่องน้ำ ซึ่งองค์การสหประชาชาติได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงกำหนดให้ วันที่ 22 มีนาคมของทุกปีเป็นวันน้ำโลก เพื่อรณรงค์ให้ประชาคมโลกให้ความสำคัญในเรื่องน้ำ โดยในปี 2558 องค์การสหประชาชาติกำหนดหัวข้อหลัก (Theme) คือ “Water Sustainable and Development” :น้ำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องกับแนวนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของประเทศให้มีความมั่นคงและยั่งยืน เพื่อให้การพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว สามารถป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติด้านน้ำอย่างยั่งยืน โดยการจัดงานในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ประชาสัมพันธ์เผยแพร่องค์ความรู้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และรณรงค์ให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนและเยาวชนตระหนัก ถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ

นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดงานเนื่องในสัปดาห์อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำแห่งชาติและวันน้ำโลก ประจำปี 2558 ตอนหนึ่งว่า น้ำคือปัจจัยสำคัญของการดำรงชีวิตทั้งต่อการอุปโภค บริโภค รวมไปถึงการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ด้านอุตสาหกรรม ด้านคมนาคม และการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศให้สมดุล ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญในการกักเก็บน้ำต่อการดำรงชีพเป็นอันดับแรก รองลงมาคือน้ำเพื่อการเกษตร และน้ำเพื่ออุตสาหกรรมตามลำดับ ทั้งนี้ ต้องมีการจัดระเบียบแหล่งน้ำใหม่ตามลักษณะภูมิประเทศ และเส้นทางการไหลของน้ำ ห้ามสร้างสิ่งกีดกวาง บ้านเรือนที่อยู่อาศัยของประชาชนตามเส้นทางน้ำเพื่อป้องกันการเกิดอุทกภัย โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหาแหล่งต้นทุนน้ำเพื่อใช้ทำน้ำประปาให้ประชาชนได้ใช้อุปโภค บริโภคให้เพียงพอต่อความต้องการ พร้อมกับขุดอ่างเก็บน้ำให้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยการนำยางพารามาทำแหล่งเก็บน้ำ เพื่อเพิ่มมูลค่ายางพารา

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคม โครงการสร้างของประชากร และสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำ เพราะฉะนั้น ต้องน้อมนำแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแนวทางในการบริหารจัดการเพื่อการใช้น้ำอย่างยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาล “ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง อย่างยั่งยืน” ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง ในส่วนของรัฐบาลจะดำเนินการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้ยุทธศาสตร์ 6 ข้อ ดังนี้ 1. การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค จะต้องให้ประชาชนเข้าถึงมีน้ำสะอาดใช้ครบทุกพื้นที่ 2. การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรมซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย จะต้องหาแหล่งน้ำให้เหมาะสมและเพียงพอเพื่อความมั่นคงของเศรษฐกิจ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 3. การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ต้องวางผังเมืองไม่สร้างที่อยู่อาศัยกีดขวางเส้นทางน้ำ กำหนดผังเมืองอย่างเป็นระบบ 4. การจัดการคุณภาพน้ำ มีการขุดลอกคลองน้ำให้ได้มาตรฐานความลึกประมาณ 3 – 3.5 เมตร เพื่อกักเก็บน้ำ และใช้ประโยชน์จากน้ำในคูคลอง รวมถึงการบำบัดน้ำเสียและมลพิษในแหล่งน้ำ 5. การฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมเพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำ สร้างความสมดุลของป่าไม้ และ 6. การบริหารจัดการน้ำต้องดำเนินงานเป็นเอกภาพ อย่างบูรณาการ รวมถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ