วันนี้ (พฤ 27 มีนาคม 2558) ร.อ. นพ. ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลสำเร็จ ในโอกาส พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและภรรยา เดินทางเยือนบรูไนดารุสซาลาม อย่างเป็นทางการ (State visit) ตามพระราชดำรัสเชิญของสมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญีฮัสซานัล โบลเกียห์ แห่งบรูไนดารุสซาลาม ระหว่างวันที่ 25 – 26 มีนาคม 2558 โดยนับเป็นการเยือนประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นลำดับ 6 เพื่อแนะนำตัว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ประกอบด้วย พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางเยือนบรูไนดารุสซาลาม อย่างเป็นทางการ ตามพระราชดำรัสเชิญของสมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญีฮัสซานัล โบลเกียห์ แห่งบรูไนดารุสซาลาม ทั้งสองประเทศสามารถบรรลุการลงนามร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรไทย –บรูไนฯ ระหว่างนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับรัฐมนตรีอุตสาหกรรมและทรัพยากรพื้นฐาน (H.E. Pehin Dato Yahya) เพื่อจะช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการเรียนรู้ซึ่งกันและกันในด้านการเกษตรและสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจที่มีอยู่ระหว่างกัน
สมเด็จพระราชาธิบดีและนายกรัฐมนตรี ยังเห็นพ้องกันในแนวทางการบริหารประเทศเพื่อความยั่งยืน โดยนายกรัฐมนตรีแสดงความชื่นชมวิสัยทัศน์แห่งชาติ 2035 Wawasan ของบรูไน ฯ ในการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการศึกษา สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ประเทศไทย 2015 ในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งทั้งสองประเทศจะได้ติดตามและผลักดันความร่วมมือทั้งสองฝ่ายให้มีความกว้างหน้าและลึกซึ้งต่อไป
ความร่วมมือด้านความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายยังสนใจแลกเปลี่ยนความมั่นคงในมิติอื่นๆ การฝึกอบรมสำหรับการถวายความปลอดภัย การแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับการต่อต้านการก่อการร้าย เป็นต้น
ด้านพลังงาน สมเด็จพระราชาธิบดีและรัฐมนตรีพลังงานของบรูไน ฯ พร้อมสนับสนุนไทย เรื่องน้ำมันดิบ ก็ซธรรมชาติ (NGV) และยังจะได้ร่วมมือกันเพื่อพัฒนาวิจัย (R&D) พลังงานทางเลือก อื่นๆ ด้วย
ด้านการเกษตร การประมง และอาหารฮาลาล นั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณบรูไน ฯ ที่นิยมบริโภคข้าวไทยและนำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บรูไนฯ นำเข้าข้าวจากไทยกว่าร้อยละ 90 จากการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศทั้งหมดและพร้อมขยายการนำเข้าข้าวจากไทยต่อไป ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังเสนอพันธ์ข้าวไทยซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวกล้อง ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยลดเบาหวาน นอกจากนี้ จะมีความร่วมมือด้านประมงให้มากขึ้น โดยบรูไนจะเปิดโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ เข้ามาทำประมงในน่านน้ำของบรูไน และขอให้พิจารณาไทยในลำดับแรกในการ ทำการประมงร่วมกันให้ถูกกฎหมายด้วย เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ แรงงานผิดกฎหมาย
ด้านสินค้าฮาลาล บรูไนฯที่มีมาตรฐานตราสินค้าฮาลาล เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ไทยมีวัตถุดิบและสินค้าฮาลาล สามารถร่วมมือกันด้านอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลเพื่อการส่งออก เป็นศูนย์กระจานสินค้า (Distribution Center) ระหว่างกัน และสานต่อความร่วมมือทางวิชาการระหว่างศูนย์ Bio Innovation Corridor (BIC) และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์ ด้านการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีฮาลาล เชิญชวนบรูไนฯ ร่วมลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลที่จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้เป็นศูนย์ผลิตอาหารฮาลาลของไทย
สำหรับความร่วมมือในระดับภูมิภาคนั้น ไทยยังเสนอขอให้สมเด็จพระราชาธิบดี ซึ่งเป็นผู้นำอาวุโสสูงสุดของอาเซียน เปิดเวที ASEAN เพื่อส่งเสริมสินค้าเกษตร พัฒนากระบวนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยี เพื่อให้ต้นทุนการผลิตลดลง ราคาจะได้ดีขึ้น และเพื่อจะได้ไม่เกิดการแข่งขันกันเอง
โอกาสนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีฯทรงตอบรับคำกราบบังคมทูลเชิญของนายกรัฐมนตรีในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนไทยอย่างเป็นทางการด้วย
ที่มา: http://www.thaigov.go.th