รองโฆษกรัฐบาลเผยนายกรัฐมนตรีเตรียมใช้มาตรา 44 ตั้งสถาบันการบินพลเรือนแห่งชาติเป็นองค์กรอิสระ แก้ไขปัญหาการถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือจาก ICAO

ข่าวทั่วไป Tuesday March 31, 2015 14:10 —สำนักโฆษก

วันนี้ (31 มี.ค.58) เวลา 14.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมฯ ถึงเรื่องที่นายกรัฐมนตรีปรารภและสั่งการต่อที่ประชุมฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

การประชุมคณะรัฐมนตรีในเดือนเมษายน 2558 จะมีการประชุม 3 ครั้ง คือ วันที่ 7, 21 และวันที่ 28 เมษายน 2558 อย่างไรก็ตามในวันที่ 28 เมษายน 2558 เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมีภารกิจที่จะเดินทางไปเยือนต่างประเทศจึงได้มอบหมายให้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม ครม.แทน

สำหรับเรื่องการช่วยเหลือแรงงานประมงไทยที่ได้รับผลกระทบจากการทำประมงที่ผิดกฎหมายและยังอยู่ในต่างประเทศนั้น ปรากฏว่าตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2557 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ทางกระทรวงการต่างประเทศได้มีการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อดำเนินการช่วยเหลือแรงงานประมงไทยให้เดินทางกลับมายังประเทศไทยแล้ว จำนวน 146 ราย โดยเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมาก็ได้มีการช่วยเหลือแรงงานประมงไทยกลับประเทศอีก จำนวน 21 ราย และในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้จะมีการช่วยเหลือแรงงานประมงเพิ่มอีกจำนวน 6 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการในเรื่องหลักฐานอีก 3 ราย ซึ่งหากดำเนินการเรื่องดังกล่าวเรียบร้อยก็จะทยอยเดินทางกลับประเทศไทย ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวเรื่องการค้ามนุษย์และการทำประมงที่ผิดกฎหมาย รัฐบาลได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาในระดับผู้ประกอบการ เรือประมง แรงงานที่ทำงานในเรือประมง การจัดซื้อจัดจ้าง และการติดตั้ง GPS เพื่อตรวจสอบเรือประมงว่าทำประมงในพื้นที่ที่ถูกต้องหรือไม่ และเข้าไปในเขตที่ทับซ้อนกับประเทศอื่นหรือไม่ เป็นต้น ซึ่ง นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงให้ที่ประชุม ครม. ได้รับทราบอีกครั้งว่า รัฐบาลไม่ได้ช่วยเหลือแรงงานประมงไทยและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาในระยะยาวควบคู่ไปพร้อมกันด้วย

ส่วนเรื่องแนวทางการใช้อำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วครานั้น นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ชี้แจงในรายละเอียดเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตามรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่าเบื้องต้นสามารถแบ่งสัดส่วนของการใช้อำนาจตามมาตร 44 ของ คสช. เป็น 2 ส่วน ดังนี้ ส่วนแรกคือ การใช้เพื่อแก้ไขปัญหาต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ได้รับการเพ่งเล็งจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องมาตรฐานการบินระหว่างประเทศของสหประชาชาติ รวมทั้งเรื่องการหากฎกติกามาทดแทนเรื่องของกฎอัยการศึก

ทั้งนี้ในส่วนกรณีของ ICAO ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้ถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือจาก ICAO เพียงแต่มีการแจ้งเตือนมาว่าสิ่งที่ ICAO ได้แจ้งเตือนมาและชี้แจงข้อบกพร่องมาตั้งแต่ปี 2548 เรายังไม่ได้มีการแก้ไขให้เป็นไปตามที่ ICAO กำหนด ซึ่งล่าสุดได้มีการแจ้งเตือนมาอีกครั้งเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมาว่า สิ่งต่าง ๆ ที่ไทยดำเนินการไม่เป็นไปตามที่ ICAO แจ้งเตือน คือ กฎระเบียบยังไม่ครบถ้วนและทันสมัย เจ้าหน้าที่เทคนิคยังไม่เพียงพอ เจ้าหน้าที่มีระยะเวลาไม่เพียงพอต่อการตรวจสอบทางด้านเทคนิคอย่างถูกต้อง การฝึกอบรมเจ้าเจ้าหน้าด้านเทคนิคไม่ครบถ้วนทำให้ขาดประสบการณ์และความรู้ที่จำเป็น เครื่องมืออุปกรณ์ไม่เพียงพอ และขาดระบบในการติดตามตรวจสอบและการแก้ไขข้อบกพร่อง จนส่งผลให้ญี่ปุ่นประกาศห้ามเครื่องบินแบบเช่าเหมาลำของไทยเพิ่ม หรือเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน เนื่องจากไม่ผ่านมาตรฐานการบินขององค์การการบินระหว่างประเทศนั้น จะไปโทษญี่ปุ่นไม่ได้เพราะเรื่องของมาตรฐานการบินประเทศญี่ปุ่นถือเป็นประเทศผู้นำในเรื่องของเทคโนโลยี ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ไทยจะต้องมีการปรับแก้ไข

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับต่อกรณีดังกล่าวพบว่า ในการแก้ไขของเรานั้นต้องมีการปรับแก้ในหลายรูปแบบ เช่น เรื่องการปรับหน่วยงานที่รับผิดชอบจากกรมการบินพลเรือนที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นหน่วยงานของทางราชการ ซึ่งข้อเท็จจริงของ ICAO แล้วต้องการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องมาตรฐานทางด้านการบินเป็นหน่วยงานอิสระ จึงมีการวางแผนว่าจะปรับให้กลายเป็นสถาบันการบินพลเรือนแห่งชาติและให้เป็นหน่วยงานอิสระคล้ายกับ กสทช. ขณะเดียวกันจะมีการจัดตั้งกรมควบคุมการขนส่งทางอากาศเพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติ โดยจะเป็นการแยกหน่วยควบคุมกับกำดูแลออกจากหน่วยปฏิบัติ เพื่อให้เป็นไปตามกฎกติกาของ ICAO กำหนด รวมทั้งจะมีการปรับโครงสร้างอัตรากำลังพล ซึ่งดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดดังกล่าวคาดจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง ดังนั้นนายกรัฐมนตรี จึงได้มีการพิจารณาที่จะใช้อำนาจของ คสช. ตามมาตรา 44 ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญว่าให้ คสช. สามารถที่จะใช้อำนาจในการแก้ไขปัญหาเรื่องต่าง ๆ ได้ จึงถือเป็นการใช้อำนาจในทางที่สร้างสรรค์เพื่อลดขั้นตอนต่าง ๆ และให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีระยะเวลาในการปรับแก้ไขเรื่องดังกล่าวภายใน 90 วัน ตามกฎกติกาของ ICAO กำหนด ซึ่งคาดว่าภายใน 90 วัน จะสามารถส่งรายละเอียดการแก้ไขเกี่ยวกับมาตรฐานการบินของไทยไปที่ ICAO อีกครั้งได้ ซึ่งหากผ่านการพิจารณาของ ICAO ก็จะทำให้ข้อกังวลในเรื่องนี้หมดไป อย่างไรก็ตามหากไม่ผ่านก็จะถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือลง ซึ่งจะส่งผลต่อเรื่องเที่ยวบินต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ฉะนั้น นายกรัฐมนตรี จึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเข้าใจถึงการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ว่าเป็นการใช้อำนาจอย่างสร้างสรรค์และขอให้ทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือเพื่อให้การแก้ไขปัญหานี้ลุล่วงไปได้ด้วยดีตามระยะเวลาที่กำหนด

ส่วนกรณีกฎอัยการศึกที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 นั้น ได้มีการปรารภในที่ประชุมฯ ว่า ต่างประเทศมีความเป็นกังวลต่อคำว่า “กฎอัยการศึก” ซึ่งโดยปกติแล้วในประเทศไทยทุกคนจะเข้าใจว่ากฎอัยการศึกเราไม่ได้นำมาใช้ในทุกมาตรา จะใช้เพียงบางข้อที่จำเป็นให้สอดคล้องกับสถานการณ์เท่านั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถที่จะเข้าไปตรวจค้น จับกุมหรือสืบสวนสอบสวนผู้ที่มีข้อมูลโยงใยจะก่อเหตุวุ่นวายกับบ้านเมือง ซึ่งในต่างประเทศไม่ได้สนใจเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นเพื่อทำให้สังคม โดยเฉพาะในต่างประเทศเกิดความสบายใจจึงพยายามหาแนวทางในการใช้อำนาจของ คสช.ตามมาตรา 44 มากำหนดเป็นกฎหมาย เพื่อดำเนินการในเฉพาะเรื่องซึ่งจะทำให้บรรยากาศโดยรวมดีขึ้น ส่วนรายละเอียดในการดำเนินการดังกล่าวนั้น นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นผู้ชี้แจงต่อไป

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ