กระทรวงวิทย์ฯ ครบ 36 ปี “พิเชฐ” ชูธงใช้ วทน.เชื่อม 20 กระทรวงให้เดินไปด้วยกันในทุกมิติ

ข่าวทั่วไป Monday March 23, 2015 14:15 —สำนักโฆษก

วันนี้ (23 มีนาคม 2558) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดกิจกรรมวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี พ.ศ. 2558 ซึ่งเวียนมาครบรอบปีที่ 36 และจัดพิธีมอบเกียรติบัตร “คนดีศรี วท.” ประจำปี 2557 ซึ่งมีผู้ได้รับเกียรติบัตร “คนดีศรี วท. จำนวน 18 ราย โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นประธานในพิธี และมีหัวหน้าหน่วยงานในสังกัด ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมในพิธี ณ ห้องโถงชั้น1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ รายชื่อผู้ที่ได้รับเกียรติบัตร “คนดีศรี วท.” ตามไฟล์ที่แนบ

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า วันที่ 24 มีนาคม 2558 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีอายุครบ 36 ปี มีรัฐมนตรีมาแล้ว 33 คน กล่าวได้ว่าเป็นกระทรวงที่เกิดขึ้นมาจากการเล็งเห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะสามารถพัฒนาประเทศให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยในวันที่ 24 มีนาคม 2522 ได้มีประกาศจัดตั้งเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน รับโอนหน่วยงานที่มีอยู่เดิม ได้แก่ กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สำนักงานพลังงานแห่งชาติ สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์แห่งประเทศไทย จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีแห่งชาติ 3 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ จัดตั้งเทคโนธานีและอุทยานวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อรวมการวิจัยครบวงจร

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ต่อมาในปี 2533 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจ ของรัฐบาลที่มุ่งแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรม ส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้เชิงพาณิชย์ในภาคอุตสาหกรรม โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีใน 4 มิติ ได้แก่ ด้านวิจัยและพัฒนา ด้านการพัฒนากำลังคน ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี นอกจากนี้ ได้มีการยุบสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และจัดตั้งกรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ให้อยู่ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมกำเนิดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สำนักงานอวกาศและภูมิสารสนเทศ และสำนักงานที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำต่างประเทศ ได้แก่ เบลเยี่ยม สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

นอกจากนี้ มีการผลักดันกฎหมายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม แผนพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ฉบับแรก (พ.ศ.2540-2549) มีการร่าง พระราชบัญญัติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และพระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมปรับบทบาทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือตอบสนองความต้องการของภาคเศรษฐกิจและสังคมโดยเน้น 4 ปัจจัยหลัก คือ ความเข้มแข็งของนวัตกรรมแห่งชาติ ความเข้มแข็งด้านทรัพยากรมนุษย์ บรรยากาศการพัฒนาที่เอื้ออำนวย และความสามารถในเทคโนโลยีเพื่ออนาคต โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ขณะเดียวกัน ได้ริเริ่มโครงการความร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภูมิภาค เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และดำเนินการกิจกรรมเกี่ยวกับพลังงานหลายด้าน เช่น การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำระดับหมู่บ้านชนบทห่างไกล

รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ในปี 2545 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างและชื่อกระทรวงอีกครั้งเป็น “กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” แยกออกจากสิ่งแวดล้อมและพลังงาน เริ่มวางกรอบทิศทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น มีการยกหน่วยงานเดิมบางหน่วยพร้อมจัดตั้งหน่วยงานใหม่ที่เป็น “องค์การมหาชน” ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ และตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา รัฐบาลให้ความสำคัญกับการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นฐานพัฒนา เศรษฐกิจประเทศ โดยให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นวิถีชีวิตของคนไทย ยกระดับการพัฒนาสนับสนุนภาคธุรกิจไทยโดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อแข่งขันกับต่างประเทศได้สู่การพัฒนาจนสามารถใช้ได้จริง พร้อมก่อกำเนิดองค์การมหาชนขึ้นอีกแห่งคือ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ เพื่อทำหน้าที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คัดเลือกและพัฒนาเทคโนโลยีชีววิทยาศาสตร์ กระตุ้นให้เกิดธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ในประเทศไทย จะเป็นความหวังของประเทศไทยในการก้าวทันกระแสธุรกิจชีววิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็วในระดับโลก

รมว.วิทยาศาสตร์ฯ คนที่ 33 กล่าวว่า นโยบายและผลงานที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กำลังขับเคลื่อน เป็นสิ่งที่จะก่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ประเทศ 5 กลุ่มงาน เพื่อขยายภาพความเป็นข้อต่อให้กับทุกกระทรวงฯ คือ วิทยาศาสตร์เพื่อสร้างงาน นำผลงานวิจัยและพัฒนาไปถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการ เกษตรกร และภาคอุตสาหกรรม ตั้งแต่การวิจัยจนถึงออกสู่ตลาด วิทยาศาสตร์เพื่อสร้างรายได้ เน้นเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์โดยนำผลงานวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน) มาใช้ในเชิงพาณิชย์ วิทยาศาสตร์เพื่อสร้างอนาคต มุ่งสร้างความมั่งคั่งและยกระดับคุณภาพชีวิตเพื่อรองรับความก้าวหน้าในอนาคต วิทยาศาสตร์เพื่อสร้างชีวิต เพื่อให้คนไทยคำนึงถึงการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใช้พึ่งตนเองและอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีความสุข โดยให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ จึงทำการวิจัยพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกผู้พิการและด้อยโอกาส วิทยาศาสตร์เพื่อสร้างฐานความรู้ เร่งกระตุ้นให้มีการขยายอุทยานวิทยาศาสตร์ ให้มากขึ้นทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างบรรยากาศให้ Science Park มีวัตนธรรมการวิจัยแบบ Open Innovation

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จาก วทน. โดยมุ่งเป้าสนับสนุนเพิ่มค่าใช้จ่ายในการวิจัยพัฒนาของประเทศสู่เป้าหมายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1 ของรายได้ประชาชาติและมีสัดส่วนรัฐต่อเอกชน 30 : 70 สร้างระบบการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงระหว่าง วทน. กับสาขาอื่นๆ เพื่อผลิตกำลังคนในสาขาที่ขาดแคลน การสร้างสิ่งจูงใจ ปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการนำงานวิจัยและพัฒนาไปต่อยอดหรือใช้ประโยชน์ ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่ทั้งด้านพลังงานสะอาด ระบบราง ยานยนต์ ไฟฟ้า การจัดการน้ำและขยะ โดยจัดเตรียมให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้าน วทน.เป็นฐานทางปัญญาที่ต่อยอดสู่การใช้เชิงพาณิชย์ กระจายในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ มุ่งเน้นพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การตั้งศูนย์วิเคราะห์ ทดสอบ ห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย ตลอดจนศูนย์วิจัยที่เปิดกว้างแก่ผู้รับบริการ

สำหรับก้าวต่อไปของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดร.พิเชฐ กล่าวว่า จะให้ความสำคัญกับธงนำการปฏิรูปคือการ นำ วทน.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศไทยหลุดจากประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ที่สำคัญต้องสามารถบูรณาการกับ 20 กระทรวงให้เดินไปด้วยกันได้ในทุกมิติ เพื่อเชื่อมโยงกับนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่เข้มข้นมากในเรื่องการส่งเสริมนวัตกรรมให้เกิดงานวิจัยใช้ประโยชน์ได้จริงทั้งทางด้านสังคมและเชิงพาณิชย์ ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์เองก็ได้รับอานิสงส์จากนโยบายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องของการสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนวิจัยเพิ่มมากขึ้น เรื่องมาตรการภาษี 300% การเคลื่อนกำลังคนด้านการวิจัยให้ไหลเวียนอย่างคล่องตัว ขณะเดียวกันกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้นำ วทน.ลงถึงประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อลดการเหลื่อมล้ำไม่เพียงแต่โครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น แต่รวมถึงความรู้ และการนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ในชุมชนทั้งส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน และการให้โอกาสให้เด็กในชนบทห่างไกลได้มีโอกาสได้เรียนรู้เท่าเทียมกับเด็กในเมือง ซึ่งถือเป็นการสร้างสังคมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกันเป็นภาพเดียวทั้งประเทศ ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกัน

ข่าวโดย : ทีมโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ประสานงานได้ที่ : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

อีเมลล์ : pr@most.go.th

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ