รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่าทุกครั้งที่มีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ต่าง ๆ เกิดขึ้น เรามีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปยังประชาชนทั่วไปได้ทราบอยู่เสมอ ๆ โดยตลอด ด้วยบทบาทของสดร. ในการสร้างความตระหนักและความตื่นตัวทางด้านดาราศาสตร์ให้เกิดขึ้นในหมู่คนไทย ผ่านปรากฎการณ์ดาราศาสตร์และกิจกรรมทางดาราศาสตร์ต่าง ๆ การเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในวันที่ 4 เมษายนนี้ ก็เช่นเดียวกัน เราจัดให้มีการแถลงข่าวในครั้งนี้ขึ้นก็เพื่อเผยแพร่ข้อมูลความรู้ไปสู่ประชาชนพร้อมทั้งเชิญชวนให้ประชาชนติดตามการเกิดปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ในครั้งนี้ สนับสนุนนโยบายของท่าน รมว.วท. ในการใช้ดาราศาสตร์สร้างแรงบันดาลใจให้คนหันมาสนใจวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างจินตนาการ และกระบวนการคิดเชิงอย่างเป็นเหตุเป็นผล และสามารถนำไปบูรณาการกับความรู้ด้านอื่น ๆ ได้อีกหลากหลาย ก่อให้เกิดบรรยากาศสังคมการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์ สู่การพัฒนาคนและพัฒนาชาติต่อไปได้ในอนาคต
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ เปิดเผยว่า “วันที่ 4 เมษายน 2558 ที่จะถึงนี้ จะเกิดปรากฏการณ์ “จันทรุปราคาเต็มดวง” สามารถสังเกตได้เกือบทุกพื้นที่ของเอเชีย รวมถึงทางด้านตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย มหาสมุทรแปซิฟิก อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย (ตรงกับเวลาเช้ามืดของวันเดียวกันตามเวลาท้องถิ่น) ด้านตะวันตกของอเมริกาใต้ และด้านตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก
สำหรับประเทศไทย ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในวันที่ 4 เมษายน 2558 เกิดขึ้นในช่วงหัวค่ำและตรงกับคืนเดือนเพ็ญ ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่เวลาประมาณ 16.01 น. และจากนั้นค่อยๆ เคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลกเกิดเป็นจันทรุปราคาบางส่วนในเวลาประมาณ 17.15 น. แต่ในวันดังกล่าวในประเทศไทยดวงจันทร์จะโผล่พ้นจากขอบฟ้าเวลาประมาณ 18.25 น. ทำให้เราไม่สามารถเห็นช่วงแรกของการเกิดจันทรุปราคาได้ หลังจากนั้นดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่ “จันทรุปราคาเต็มดวง” ตั้งแต่เวลา 18.57 - 19.02 น. คิดเป็นระยะเวลาของจันทรุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้ประมาณ 5 นาที ขณะนั้นดวงจันทร์อยู่สูงจากขอบฟ้าทางด้านทิศตะวันออกประมาณ 7 องศา และช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ในเงามืดของโลกเต็มดวง จะมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐทั้งดวงจนสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าทางด้านทิศตะวันออกในทุกภูมิภาคของประเทศ เมื่อสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงหลังเวลา 19.03 น. ไปแล้ว ดวงจันทร์จะเริ่มออกจากเงามืดของโลกเข้าสู่การเป็นช่วงจันทรุปราคาบางส่วนอีกครั้ง จนกระทั่งออกจากเงามืดของโลกทั้งดวงในเวลา 20.44 น. แล้วเปลี่ยนเป็นจันทรุปราคาเงามัว ซึ่งการสังเกตทำได้ยากเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดวงจันทร์จากเงามืดของโลกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ช่วงท้ายสุดดวงจันทร์จะพ้นจากเงามัวของโลกเวลา 21.58 น. ถือว่าเป็นการสิ้นสุดของปรากฏการณ์จันทรุปราคาแบบเต็มดวงครั้งนี้โดยสมบูรณ์ โดยมีมุมเงย 31 องศา จากขอบฟ้าทางทิศด้านตะวันออก”
ภาพจำลองจันทรุปราคาแบบเต็มดวง ขณะเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์อยู่สูงจากขอบฟ้าทางด้านทิศตะวันออกประมาณ 7 องศา และจะมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐทั้งดวงทางด้านทิศตะวันออก (ภาพจากโปรแกรม Stellarium)
ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ที่สนใจชมจันทรุปราคาเต็มดวงช่วงหัวค่ำในวันดังกล่าว ให้หันหน้าไปทางทางทิศตะวันออก และควรอยู่ในที่โล่งหรือที่สูงจะสามารถมองเห็นดวงจันทร์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นเวลาที่ดวงจันทร์ยังอยู่ใกล้ขอบฟ้ามาก นับเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งแรกของปี 2558 ครั้งที่ผ่านมาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2557 และจะเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงเพียงครั้งเดียวที่จะเห็นได้ในประเทศไทย ครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 28 กันยายน 2558 ซึ่งตรงกับช่วงเวลากลางวันทำให้ประเทศไทยไม่สามารถมองเห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้
อาจารย์ชูชาติ แพน้อย รักษาการผู้อำนวยการหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา หนึ่งในเครือข่ายการจัดกิจกรรมได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความพร้อมของการจัดกิจกรรมว่า "หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา กำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดดำเนินการประมาณต้นปี 2559 ในระหว่างนี้อยู่ระหว่างการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ภายในหอดูดาว ในขณะเดียวกันเราได้เริ่มจัดกิจกรรมดาราศาสตร์เพื่อให้บริการประชาชนด้วย ดังเช่น จันทรุปราคาเต็มดวงในวันที่ 4 เมษายน นี้ เราได้จัดเตรียมกล้องโทรทรรศน์พร้อมอุปกรณ์ สำหรับใช้ในการสังเกตการณ์ และวิทยากรที่จะคอยให้ข้อมูลแก่ประชาในวันนั้นนอกจากจะได้ชมดวงจันทร์สีแดงแล้ว ยังจะมีการตั้งกล้องโทรทรรศน์เพื่อสังเกตวัตถุท้องฟ้าต่างๆ ด้วย จึงอยากเชิญชวนประชาชนที่สนใจ เข้ามาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย"
ปรากฏการณ์จันทรุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในระนาบเดียวกัน โลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลก ผู้สังเกตบนโลกจะมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งไปทีละน้อยจนดวงจันทร์เข้าไปอยู่เงามืดทั้งดวง และเริ่มมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งอีกครั้งหนึ่งเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากเงามืดของโลก ช่วงที่ดวงจันทร์โคจรเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกบางส่วนจะเรียกว่า “จันทรุปราคาบางส่วน” และช่วงที่ดวงจันทร์โคจรเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกทั้งดวง เรียกว่า “จันทรุปราคาเต็มดวง” จะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงเป็นสีแดงอิฐ เนื่องจากได้รับแสงสีแดงซึ่งเป็นคลื่นที่ยาวที่สุด หักเหผ่านบรรยากาศโลกไปกระทบกับดวงจันทร์
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับหน่วยงานเครือข่าย และหอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรมสังเกตการณ์และตั้งจุดถ่ายทอดสดจันทรุปราคาเต็มดวง 4 จุด ได้แก่ ปทุมธานี เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา ผ่านเว็บไซต์ www.narit.or.th ให้คนไทยชมกันอย่างเต็มอิ่ม ตั้งแต่เวลา 17:00 – 22:00 น. ตั้งกล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์พร้อมถ่ายทอดสดผ่านจอภาพขนาดใหญ่ภายในบริเวณงานให้ชมกันอย่างเต็มตา รวมถึงกิจกรรมทางดาราศาสตร์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ แนะนำการดูดาวเบื้องต้น เรียนรู้ท้องฟ้าและกลุ่มดาวต่าง ๆ สังเกตวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจ เช่น ดาวพฤหัสบดี เป็นต้น
สถานที่จัดกิจกรรม
ปทุมธานี - ดาดฟ้าชั้น 3 บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 081-8854353
เชียงใหม่ - จุดชมวิวดอยสุเทพ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 082-3868155
นครราชสีมา - หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 044-216254
ฉะเชิงเทรา - หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 038-589395
เชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมฟรี!! โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-225569 ต่อ 210 หรือ 081-8854353
E-Mail: pr@narit.or.th
www.narit.or.th
Facebook: สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
Twiiter: @N_Earth
ที่มา: http://www.thaigov.go.th