นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส.ได้เห็นชอบตามที่ฝ่ายจัดการเสนอตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 ในโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรรายย่อยผ่านระบบ ธ.ก.ส. เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรลูกค้าครอบคลุมทั้งลูกค้าที่ประสบปัญหาการชำระหนี้อันมีสาเหตุ
มาจากภาวะเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติ รวมถึงราคาผลผลิตตกต่ำ และลูกค้าที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด โดยธ.ก.ส.ได้กำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรลูกค้า ในกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรกรรายย่อยที่มีหนี้สินรายละไม่เกิน 500,000 บาท จำนวนประมาณ 818,000 ราย หนี้สินจำนวนประมาณ 116,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 – 31 มีนาคม 2559 ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย ดังนี้
(1) โครงการปลดเปลื้องหนี้สิน กลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีศักยภาพ หรือมีเหตุผิดปกติ เช่น เสียชีวิต ทุพพลภาพ เจ็บป่วยเรื้อรัง และมีปัญหาสุขภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ จำนวนประมาณ 28,000 ราย หนี้สินจำนวนประมาณ 4,000 ล้านบาท วิธีดำเนินการ โดย ธ.ก.ส. จะสอบทานลูกหนี้เพื่อการจัดการหนี้และพิจารณาปลดหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยโดยการจำหน่ายหนี้เงินกู้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญ ตามหลักเกณฑ์การจำหน่ายทรัพย์สินประเภทลูกหนี้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญของ ธ.ก.ส.
(2) โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ กลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีศักยภาพต่ำ โดยผ่านการประเมินศักยภาพแล้วปรากฏว่ายังมีความสามารถในการประกอบอาชีพแต่มีปัญหาในการชำระหนี้จากเหตุสุจริตจำเป็นและเป็นภาระหนัก จำนวนประมาณ 340,000 ราย หนี้สินจำนวนประมาณ 48,000 ล้านบาท วิธีดำเนินการ โดย ธ.ก.ส.จะสอบทานลูกหนี้เพื่อการจัดการหนี้และพิจารณาจัดทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่เกษตรกรลูกค้าตามศักยภาพ โดยให้ชำระต้นเงินตามงวดหรือระยะเวลาที่ตกลงกันแต่ไม่เกิน 10 ปี เว้นแต่มีความจำเป็นอาจกำหนดให้ชำระไม่เกิน 15 ปี และปลอดชำระต้นเงินเป็นระยะเวลา 3 ปี ธ.ก.ส.จะคิดดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในอัตราปกติคือ MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 7 ต่อปี) ส่วนดอกเบี้ยก่อนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้พักไว้เพื่อรอการจัดการ เมื่อเกษตรกรลูกค้าชำระหนี้ต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยได้ตามงวดชำระหนี้ที่กำหนด ธ.ก.ส.จะพิจารณายกหนี้ในส่วนของดอกเบี้ยที่พักไว้ตามศักยภาพของเกษตรกรลูกค้าแต่ละราย และดำเนินการฟื้นฟูการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกรลูกค้าตามโครงการนี้ ผ่านศูนย์เรียนรู้ชุมชน หรือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการฟื้นฟูผ่านศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมให้แก่เกษตรกรลูกค้าตามแผนฟื้นฟูการประกอบอาชีพการเกษตรหรืออาชีพอื่นที่เหมาะสม เงินกู้ต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท วงเงินสินเชื่อรวม 15,000 ล้านบาท โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราปกติของ ธ.ก.ส.
(3) โครงการขยายระยะเวลาชำระหนี้ กลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีศักยภาพในการประกอบอาชีพ แต่ได้รับผลกระทบจากการงดทำนาปรัง และราคายางพาราตกต่ำ จำนวนประมาณ 450,000 ราย หนี้สินจำนวนประมาณ 64,000 ล้านบาท วิธีดำเนินการ ธ.ก.ส.จะสอบทานหนี้เพื่อการจัดการหนี้ และพิจารณาขยายระยะเวลาชำระหนี้ตามศักยภาพของเกษตรกรลูกค้า โดย ธ.ก.ส.คิดดอกเบี้ยในอัตราปกติของ
ธ.ก.ส. และไม่คิดเบี้ยปรับ นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมให้แก่เกษตรกรลูกค้าเพื่อปลูกพืชอื่นทดแทน หรือประกอบอาชีพการเกษตรอย่างอื่น หรือประกอบอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ เงินกู้ต่อราย
ไม่เกิน 100,000 บาท วงเงินสินเชื่อรวม 35,000 ล้านบาท โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราปกติเช่นกัน และเพื่อเป็นการตอบแทนเกษตรกรลูกค้าที่มีวินัยทางการเงินและสร้างขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรลูกค้าในการประกอบอาชีพ สำหรับเกษตรกรลูกค้าที่ชำระหนี้ได้ตามกำหนด ธ.ก.ส.ได้กำหนดมาตรการในการดูแลเกษตรกรลูกค้าโดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ดังนี้ ลดอัตราดอกเบี้ยให้ทุกปี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดในขณะนี้เท่ากับ MRR ร้อยละ7ต่อปี ให้สินเชื่อเพิ่มเติมสำหรับใช้จ่ายยามฉุกเฉินหรือจำเป็นในครอบครัว ตามโครงการสินเชื่อเงินด่วน (A - Cash) วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR ร้อยละ7ต่อปี ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อทำการผลิตการเกษตรรูปแบบใหม่ ให้สินเชื่อเพิ่มเติมในการจัดหาปัจจัยการผลิตผ่านบัตรสินเชื่อเกษตรกร รายละไม่เกิน 50,000 บาท ให้สินเชื่อโครงการแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน เงินกู้ 100,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน ได้รับสิทธิ์ในการเข้าร่วมโครงการกองทุนทวีสุขเพื่อการออมเงินยามเกษียณ พร้อมรับดอกเบี้ยพิเศษและสวัสดิการโครงการ ให้สินเชื่ออุ่นใจคนไกลบ้าน สำหรับบุตรของเกษตรกรลูกค้าที่เข้ามาทำงานในเมือง เงินกู้ 100,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน เป็นต้น
นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ได้เสนอสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมให้แก่เกษตรกรลูกค้า โดยการผ่อนปรนหลักประกันจำนอง เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าที่มีประวัติการชำระหนี้ได้ติดต่อกันตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป (AAA+) และใช้หลักประกันจำนองในการกู้เงินให้มีเงินทุนเพิ่มขึ้นในการประกอบอาชีพหรือพัฒนาคุณภาพชีวิต โดย ธ.ก.ส.จะขยายวงเงินกู้เพิ่มเติมให้กับเกษตรกรลูกค้าที่ใช้หลักประกันจำนองกู้เงินได้ ในอัตราร้อยละ 100 ของวงเงินจดทะเบียนจำนอง ทั้งนี้ ธ.ก.ส.จะดำเนินการต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว
สำนักประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร ธ.ก.ส.
โทร 02 558 6100 ต่อ 6733, 6734 และ 6740
ที่มา : กระทรวงการคลัง
ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th