นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีสารตะกั่วเป็นส่วนผสม เช่น สีน้ำมัน สีทาอาคาร และของเล่น เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้หากสูดดมเข้าไปเป็นเวลานาน จึงได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ดำเนินการกำหนดเป็นมาตรฐานบังคับ ล่าสุด กมอ. ได้มีมติเห็นชอบให้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสีเคลือบแอลคีด เฉพาะด้านความปลอดภัย มอก. 2625-2557 เป็นมาตรฐานบังคับ ซึ่งขณะนี้ สมอ. อยู่ระหว่างดำเนินการประกาศให้มาตรฐานดังกล่าวเป็นมาตรฐานบังคับต่อไป
นายหทัย อู่ไทย เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน สมอ. ได้กำหนดและประกาศใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสีและวาร์นิชแล้วจำนวน 91 มาตรฐาน โดยกำหนดเป็นมาตรฐานบังคับจำนวน 7 มาตรฐาน ได้แก่
1) มอก. 496-2553 ทินเนอร์สำหรับแลกเกอร์
2) มอก. 520-2553 ทินเนอร์สำหรับสีพ่นแห้งเร็วไนโตรเซลลูโลส
3) มอก. 739-2555 สีย้อมสังเคราะห์ : สีไดเร็กต์
4) มอก. 740-2555 สีย้อมสังเคราะห์ : สีรีแอกทีฟ
5) มอก. 760-2555 สีย้อมสังเคราะห์ : สีแวต
6) มอก. 2344-2555 สีย้อมสังเคราะห์ : สีซัลเฟอร์
7) มอก. 2532-2556 สีย้อมสังเคราะห์ : สีแอซิด
สำหรับมาตรฐาน มอก. 2625-2557 สีเคลือบแอลคีด เฉพาะด้านความปลอดภัยที่จะกำหนดเป็นมาตรฐานบังคับ เนื่องจากปัจจุบันมีการผลิตสีเคลือบแอลคีดเพื่อใช้ในงานก่อสร้างและตกแต่งจำนวนมาก มีทั้งชนิดเงา ชนิดกึ่งเงา และชนิดด้าน ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้โดยเฉพาะปริมาณโลหะหนักที่เป็นพิษ ต่อร่างกาย สมอ. จึงกำหนดให้มาตรฐานดังกล่าวเป็นมาตรฐานบังคับ โดยก่อนหน้าที่จะกำหนดเป็นมาตรฐานบังคับได้กำหนดเป็นมาตรฐานทั่วไป ซึ่งการขออนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานเป็นความสมัครใจของผู้ประกอบการ ทำให้การควบคุมปริมาณสารตะกั่วที่เป็นส่วนผสมสำคัญในสีไม่สามารถควบคุมได้อย่างทั่วถึง ส่งผลให้มีสีจำนวนมากที่มีสารตะกั่วปนเปื้อนเกินค่าร้อยละ 0.01 หรือ 100 พีพีเอ็ม ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ดังนั้น สมอ. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนจากการใช้ผลิตภัณฑ์
อุตสาหกรรม จึงได้ปรับแก้ไข มอก. 2625-2557 สีเคลือบแอลคีด เป็นมาตรฐานบังคับ โดย สมอ. จะควบคุมเฉพาะด้านความปลอดภัย ซึ่งผู้ทำ ผู้นำเข้า จะต้องขออนุญาตจาก สมอ. ก่อน จึงจะสามารถผลิต และนำเข้าได้ สำหรับรายละเอียดใน มอก. ฉบับนี้ได้กำหนดปริมาณสารตะกั่วไม่เกินร้อยละ 0.01 ปรอทไม่เกินร้อยละ 0.01 แคดเมียมไม่เกินร้อยละ 0.01 และโครเมียมเฮกซะวาเลนต์ไม่เกินร้อยละ 0.1 ทั้งนี้ ค่าปริมาณสารดังกล่าวผ่านการทดสอบแล้วว่าไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้ใช้งาน ผู้พักอาศัย และเป็นอันตรายจากการสูดดม หรือสัมผัสสีในเด็กเล็ก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th