สำหรับมาตรการและแนวทางในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ประกอบด้วย 1. การบังคับใช้กฎหมาย โดยเน้นย้ำการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง โดยเฉพาะพฤติกรรมเสี่ยง ความเร็ว เมาแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย และยานพาหนะประเภทจักรยานยนต์ไม่ปลอดภัย ตามมาตรการ 1ร. 2ส. 3ข. 4ม. (10 รสขม) ได้แก่ 1) ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 2) ขับรถย้อนศร 3) ฝ่าฝืนสัญจรจราจร 4) ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 5) ไม่มีใบขับขี่ 6) แซงในที่คับขัน 7) เมาสุรา 8) ไม่สวมหมวกนิรภัย 9) มอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัย 10) ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ 2. การสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยนำมาตรการองค์กรและชุมชนมาเสริมในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงในพื้นที่ 3. การบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน โดยยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area Approach) และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเจ้าภาพในการบูรณาการการทำงานร่วมกัน 4. การขับเคลี่อนงานอย่างเป็นเอกภาพและทิศทางเดียวกัน โดยมีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ (ส่วนกลาง) และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2558 ในทุกระดับ เพื่อรายงานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน และการนำข้อมูลในพื้นที่มาวิเคราะห์เพื่อหามาตรการและแนวทางแก้ไข เช่น จุดเสี่ยง จุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง อุบัติเหตุใหญ่ และจุดตัดทางรถไฟ เป็นต้น นอกจากนี้ ได้มีการประสานความร่วมมือหน่วยงานราชการที่มีที่ตั้งติดถนนสายหลักและสายรอง พิจารณาเปิดเป็นจุดพักรถหรือจุดบริการประชาชน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนในช่วงเทศกาลอีกด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่ โดยมีการประสานการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งด้านการสนับสนุนการทำงานตามมาตรการและแนวทางที่กำหนด ตลอดจนมีการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักและมีจิตสำนึกในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้เดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย และมีความสุขในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้
ที่มา: http://www.thaigov.go.th