วันนี้ (1 เม.ย.58) เวลา 14.00 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายสำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาล ครั้งที่ 2/2558 ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ภายหลังการประชุม ร้อยเอก ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้
ที่ประชุมรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 94/2558 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายสำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาลโดยแต่งตั้งประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติเป็นกรรมการเพิ่มเติม พร้อมกับรับทราบและพิจารณาการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์คณะรักษาความสงบแห่งชาติชุดต่าง ๆ ประกอบด้วย (1) คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (กขย.) (2) คณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล (กขร.) (3) ผู้ประสานงานบูรณาการการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล (ระดับกระทรวง) (ปขก.) และ (4) คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.)
โดยเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (กขย.)ได้รายงานความคืบหน้าการติดตามและขับเคลื่อนโครงการสำคัญ ประกอบด้วย การให้ความช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง และการสนับสนุนการดับไฟป่าและป้องกันหมอกควันในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 (ทภ. 3) ซึ่งการขับเคลื่อนดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากหน่วยทหารในพื้นที่เป็นอย่างดี ด้านประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล (กขร.) ได้รายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงานสำคัญประกอบด้วย การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง การติดตามสถานการณ์ส่งออก และการช่วยเหลือเกษตรกร โดยปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่พบได้แก่การเน้นผลลัพธ์มากกว่าประสิทธิผลของการดำเนินงาน
ขณะที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงานสำคัญของผู้ประสานงานบูรณาการการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล (ระดับกระทรวง) (ปขก.) ประกอบด้วย แนวทางการดำเนินงานของ ปขก. และผลการติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการสำคัญ ได้แก่ (1) การจัดทำฐานข้อมูลกลางของประเทศ (2) การช่วยเหลือเกษตรกรและดูแลราคาพืชผลเกษตร (3) การบริหารจัดการที่ดินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ (4) การควบคุมเรือประมงไทย (5) การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (6) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน และ (7) การเพิ่มประสิทธิภาพกองทุนของกระทรวง ส่วนประธานกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ได้รายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงานช่วงตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557- มีนาคม 2558 ประกอบด้วย โครงการที่ดำเนินการได้ข้อยุติแล้ว 27 โครงการ โครงการที่ตรวจสอบแล้ว และอยู่ระหว่างการติดตามความก้าวหน้า 16 โครงการ และโครงการที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ 2 โครงการ นอกจากนั้นยังติดตามโครงการผูกพันใหม่ที่ได้รับจัดสรรตาม พ.ร.บ. ปีงบประมาณ 2558 จำนวน 32 โครงการ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการในที่ประชุม รวม 6 ข้อ คือ 1. มอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ) และ PMOC สร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนให้มีความเข้าใจและสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลในระยะที่สอง เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม (โดยเฉพาะการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็ง และสร้างความเชื่อมโยงกับสากล) โดยการสร้างความเข้าใจร่วมกัน ลดความขัดแย้ง และดำเนินการตามกรอบกฎหมาย 2. มอบหมายรองนายกรัฐมนตรี (หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล) แก้ไขปัญหา SMEs โดยให้เร่งขึ้นทะเบียน SMEs ให้ครอบคลุมและครบถ้วนโดยเร็ว และส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ครบถ้วนโดยเร็ว รวมทั้งพิจารณาขยายเพดานวงเงินกู้ให้เหมาะสมโดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มธุรกิจใหม่ กลุ่มส่งออก กลุ่มที่ต้องการขยายการผลิตในประเทศ และกลุ่มที่ต้องการฟื้นฟูศักยภาพ 3. มอบหมายรองนายกรัฐมนตรี (หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล) และรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ร่วมกันเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายไตรมาสให้เป็นไปตามแผน โดยเฉพาะการดำเนินการของ อปท. และให้กระทรวงมหาดไทยสนับสนุนและเร่งรัดการดำเนินงานอย่างเข้มงวด
4. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ สนับสนุนและผลักดันการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษให้สามารถดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมได้ครบ 5 แห่ง (และเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง) ตามแผนการดำเนินงานให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ และพิจารณาให้สิทธิการเช่าพื้นที่การลงทุนสำหรับเอกชนให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542(ระยะเวลา 50 ปี ขยายต่อได้อีก 49 ปี) 5. มอบหมายคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตรวจสอบการรับซื้อยางพาราตามโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพยางพารา ให้มีความเป็นธรรมและทั่วถึง 6. มอบหมายกระทรวงการคลัง ตรวจสอบปัญหาความล่าช้าของโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา ที่ดำเนินการโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
(ข้อมูลจากฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายสำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาล)
ที่มา: http://www.thaigov.go.th