ด้วยประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Ageing Society[1]) นับแต่ปี 2548 - 2549 เป็นต้นมา และมีอัตราการเพิ่มจำนวนประชากรผู้สูงอายุในสัดส่วนที่รวดเร็วเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด คาดว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ในปี2564 หรืออีกประมาณไม่เกิน 10ปีข้างหน้าและเป็น“สังคมสูงวัยระดับสุดยอด”(Super aged society)ในอีก 20 ปี (พ.ศ.2578) โดยประมาณการว่าจะมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มเป็นร้อยละ30[2]ของจำนวนประชากรทั้งหมด
เพื่อเป็นการรองรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุดังกล่าว รัฐบาลได้กำหนดเป็นนโยบายประการหนึ่งเพื่อให้ผู้สูงอายุทั้งปัจจุบันและประชากรที่จะเข้าสู่วัยสูงอายุในอนาคตมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายดังกล่าวให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ ต้องการการบูรณาการขับเคลื่อนระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่ กระทรวงหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงแรงงาน จึงได้ร่วมบูรณาการงานของกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุในระดับพื้นที่อำเภอและตำบลในทุกจังหวัดเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะเริ่มบูรณาการงานในพื้นที่อย่างน้อยใน 155 ตำบล ใน 76 จังหวัด ในปี 2558 แล้วจะพัฒนาขยายผลให้ทั่วประเทศต่อไป
1. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์สนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และการพิทักษ์ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในประเด็นด้านสังคม ต่าง ๆ ได้แก่ ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งของชมรมผู้สูงอายุ สนับสนุนการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุในพื้นที่ต่าง ๆ สนับสนุนการดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยใช้ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.)เป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ส่งเสริม สนับสนุนการปรับสภาพแวดล้อมและจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในที่พักอาศัยของผู้สูงอายุ และสถานที่สาธารณะในชุมชน สนับสนุนการจัดกิจกรรมนันทนาการ และกิจกรรมทางวัฒนธรรมท้องถิ่นโดยการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุ สนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและการดูแลผู้สูงอายุ ส่งเสริมการให้ความรู้เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมสู่วัยสูงอายุ ประสานความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่เพื่อสนับสนุนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ
2. กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและจัดบริการด้านสุขภาพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ในประเด็นสำคัญ ได้แก่ ส่งเสริมสนับสนุนการบริการสุขภาพผู้สูงอายุโดยการตรวจคัดกรอง/บริการทันตกรรมประเมิน และส่งต่อเพื่อดูแลอย่างบูรณาการเชื่อมโยงจากสถานพยาบาลสู่ชุมชนท้องถิ่น การจัดระบบดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง การจัดทีมหมอครอบครัว (Family care team) เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในผู้สูงอายุ การเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง และส่งต่อเพื่อการบำบัดรักษาการฝึกอบรมผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุcare manager) และฝึกอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Care giver) ในชุมชน การเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพสำหรับผู้เตรียมเข้าสู่วัยสูงอายุ
3.กระทรวงมหาดไทยสนับสนุนการพัฒนากลไกในระดับท้องถิ่นเพื่อรองรับการดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยสนับสนุนการจัดการเชิงโครงสร้างระดับจังหวัดและอำเภอเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชนท้องถิ่น สนับสนุนให้องค์กรปกครองท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ พัฒนาและกำหนดกฎระเบียบเพื่อรองรับการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุของหน่วยงานระดับพื้นที่และองค์กรปกครองท้องถิ่น อำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุในการเข้าถึงบริการพื้นฐานของชุมชน
4. กระทรวงศึกษาธิการสนับสนุน ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดช่วงอายุ โดยเฉพาะการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตสำหรับผู้สูงอายุโดย จัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยสำหรับผู้สูงอายุ จัดการศึกษาต่อเนื่องเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ สนับสนุนเนื้อหาสำหรับการเรียนการสอนในโรงเรียนผู้สูงอายุในพื้นที่ต่าง ๆ ให้ความรู้เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมสู่วัยสูงอายุ อีกทั้งสนับสนุนให้ผู้สูงอายุที่เป็นภูมิปัญญาในท้องถิ่นมีบทบาทในการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่คนรุ่นต่อๆไปด้วย
5.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับผู้สูงอายุ และสนับสนุน ส่งเสริมการนำไปใช้งานจริงในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการฟื้นฟูสมรรถภาพ การใช้ชีวิตในสังคม การศึกษาและการประกอบอาชีพ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีชีวิตอิสระ มีช่วงอายุการทำงานมากขึ้น และมีส่วนร่วมในสังคมได้มากขึ้น เช่น รีโมตสำหรับ ปิด-เปิด เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือสวิตซ์ไฟ
6. กระทรวงแรงงานสนับสนุนการพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพและการทำงานที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ โดย ฝึกอบรมการพัฒนาทักษะเพื่อประกอบอาชีพเสริมต่าง ๆ ให้แก่ผู้สูงอายุในการสร้างรายได้เสริม จัดหาอาชีพที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการทำงาน
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
พัณณ์วรินทร์ อินโท่โล่รายงาน
ดวงใจ กล่อมจิตต์ ตรวจ
ที่มา: http://www.thaigov.go.th