วันนี้ (2เม.ย.58) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี(หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ครั้งที่ 2/2558 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมฯ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนา พร้อมด้วยตัวแทนภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย BOI สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอมีมติเห็นชอบเรื่อง การกำหนดกิจการเป้าหมายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ ตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) มีมติเห็นชอบกำหนดกิจการเป้าหมาย 13 กลุ่ม ครอบคลุม 61 กิจการย่อย ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมการเกษตร ประมงและกิจการที่เกี่ยวข้อง (2) การผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิกส์ (3) อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มและเครื่องหนัง (4) การผลิตเครื่องเรือน (5) อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ (6) การผลิตเครื่องมือแพทย์ (7) อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักรและชิ้นส่วน (8) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (9) การผลิตพลาสติก (10) การผลิตยา (11) กิจการโลจิสติกส์ (12) นิคมหรือเขตอุตสาหกรรม (13) กิจการสนับสนุนการท่องเที่ยว
สำหรับกิจการเป้าหมายที่จะให้ส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 5 เขต (จังหวัดตาก จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดสระแก้ว จังหวัดตราด และจังหวัดสงขลา) จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับศักยภาพ ข้อจำกัดและความต้องการของแต่ละพื้นที่ ส่วนสิทธิประโยชน์สำหรับโครงการที่ลงทุนในกิจการเป้าหมายในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนั้นจะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และลดหย่อนภาษีเงินได้ร้อยละ 50 เพิ่มอีก 5 ปี
ทั้งนี้ กิจการประเภทอื่นๆ ที่มิได้อยู่ในกลุ่มกิจการเป้าหมาย ก็สามารถยื่นขอรับส่งเสริมเพื่อเข้าไปลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษได้ตามปกติ ซึ่งแม้จะได้รับสิทธิประโยชน์น้อยกว่ากิจการเป้าหมาย 13 กลุ่ม แต่ก็จะได้สิทธิประโยชน์สูงกว่าการลงทุนในพื้นที่ทั่วไป
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนภายใต้นโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ และมีมติเห็นชอบให้มีการผ่อนปรนเรื่องการกำหนดอายุของเครื่องจักรใช้แล้วจากต่างประเทศที่จะนำมาใช้ในโครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน จากเดิมที่กำหนดไว้ต้องมีอายุไม่เกิน 5 ปี เป็นอนุญาตให้โครงการที่ขอรับส่งเสริมสามารถใช้เครื่องจักรใช้แล้วจากต่างประเทศที่อายุไม่เกิน 10 ปี ยกเว้นกรณีการย้ายฐานการผลิตจากบริษัทในเครือเข้ามาลงทุนในไทย จะอนุญาตให้ใช้เครื่องจักรที่อายุเกิน 10 ปีได้ แต่ทั้งสองกรณีจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรใดๆ และจะต้องมีใบรับรองประสิทธิภาพเครื่องจักรจากสถาบัน ที่เชื่อถือได้ และมีรายงานการปรับปรุงซ่อมแซมพร้อมการรับรอง รวมทั้งมีรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรฐานความปลอดภัยและการใช้พลังงานที่อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้
พร้อมทั้งที่ประชุมได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการ จำนวน 10 โครงการ เงินลงทุนทั้งสิ้นรวม 28,541.7 ล้านบาท ประกอบด้วย
1. บริษัทมิลล์คอน สเปเชี่ยล สตีล จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตเหล็กลวด (STEEL WIRE ROD) กำลังผลิตปีละประมาณ 650,000 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 6,515 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดระยอง
2. บริษัท เทยิ่น เอฟอาร์เอ ไทร์ คอร์ด (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตผ้าใบไทร์คอร์ด (TIRE CORD FABAIC) กำลังการผลิตปีละประมาณ 16,000 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,130 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดอยุธยา
3. บริษัท แมกน่า ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการขยายกิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะปั๊มขึ้นรูป กำลังผลิตปีละประมาณ 9,870,400 ชิ้น และชิ้นส่วนโลหะสำหรับยานพาหนะ กำลังผลิตปีละประมาณ 10,368,000 ชิ้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,665.3 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดระยอง
4. บริษัท โยโรซึ (ไทยแลนด์) จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะสำหรับยานพาหนะ กำลังผลิตปีละประมาณ 8,059,400 ชิ้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,520 ล้านาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดระยอง
5. บริษัท ฮิตาชิ ออโตโมทีฟ ซิสเท็มส์ เอเชีย จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ กำลังผลิตปีละประมาณ 8,316,000 ชิ้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดฉะเชิงเทรา
6. บริษัท นาชิ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ กำลังผลิตปีละประมาณ 18,000,000 ชิ้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,246.4 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดระยอง
7. บริษัท บีเอเอสเอฟ (ไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิต SODIUM POLYACRYLATE หรือสารดูดซับของเหลวสำหรับการผลิตผ้าอ้อม กำลังผลิตปีละประมาณ 50,000 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,793 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดระยอง
8. บริษัท โกลบอลกรีนโฮลดิ้ง จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล กำลังผลิต 9.5 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,015 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดสงขลา
9. บริษัท ปรินทร จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ ขนาดพื้นที่ 40 ไร่ เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,520 ล้านบาท ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตบางนา กรุงเทพฯ
10. บริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร เอเชีย จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้า ขนาด 110 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 15 ตัน/ชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,137 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดฉะเชิงเทรา
ขณะเดียวกัน ผู้แทนจาก SMEs สาภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ชี้แจงถึงถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าการลงทุนว่า ขณะนี้สภาหอการค้าฯ ได้มีการชี้แจงสื่อสารกับผู้ประกอบการให้รับทราบถึงสาเหตุสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่ชะลอตัวเพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและค่าเงินอ่อนตัวลง ทั้งในยุโรป จีน รวมทั้งการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินในประเทศแข่งค่า แต่อย่างไรก็ตามช่วงนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมา รวมถึงการสั่งซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศได้ในราคาที่ถูกลง เพื่อนำมาเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านอุตสาหกรรม และยังเป็นการเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมไทยได้ไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นเนื่องจากได้รับประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็ง ประกอบกับ BOI ก็มีนโยบายใหม่เกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะการส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตรเพิ่มมากขึ้น ทำให้ SMEs ขนาดเล็กได้รับการส่งเสริมและดูแล ขณะที่ด้านการบริการก็มีการปรับลดเงื่อนไขลงแต่ยังเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด และมีการดูแลอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวด้วย
พร้อมทั้ง นายกรัฐมนตรี ต้องการให้ภาครัฐและเอกชนมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและมีการประชุมหารืออย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้มีการสนับสนุนการลงทุนรายใหม่ของต่างชาติหรือคนไทยที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยต้องไม่เป็นการทุ่มตลาดที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อย
ส่วนสถานการณ์ยอดการส่งออกและนำเข้าของ SMEs ไทยในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2558 มีการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งนี้ SMEs ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและเป็นวาระแห่งชาติ อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะทำ SMEs มีประสิทธิภาพ กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ต้องช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อที่จะช่วยแก้ไขปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศดีขึ้นรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
นอกจากนี้ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนา ได้กล่าวถึงเรื่องการส่งเสริมกิจการขนส่งทางอากาศว่า ธุรกิจการบินถือเป็นส่วนสำคัญในการที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องการเดินทางและการขนส่งคมนาคม ตลอดจนเรื่องของการบริการ โดยวันนี้ที่ประชุม BOI ได้เห็นชอบการส่งเสริมกิจการขนส่งทางอากาศ จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จำกัด ( 1 โครงการ) บริษัทไทยไลอ้อน เมนทารี จำกัด ( 4 โครงการ) บริษัท ไทย เวียตเจ็ท แอร์ จอย์ท สต๊อค จำกัด (1 โครงการ) และบริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด (2 โครงการ) ทั้งนี้ในส่วนของสายการบินที่มีอยู่เดิมแม้จะได้รับผลกระทบจากการตรวจขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) ทางกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามแก้ไขปัญหาให้สามารถผ่านพ้นไปให้ได้ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด 90 วัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับโครงสร้าง กำลังพล กฎหมาย กระบวนการและวิธีการ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในเรื่องของมาตรฐานการบินและความปลอดภัย ส่วนประเด็นระหว่างประเทศที่ได้รับผลกระทบต่อกรณีดังกล่าวทั้งในส่วนของญี่ปุ่น เกาหลี และจีน นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือร่วมกันซึ่งเชื่อมั่นว่าข้อสรุปจะเป็นไปในทิศทางที่ดี
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษกล
ที่มา: http://www.thaigov.go.th