วันนี้ (27 มีนาคม 2558) นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร และ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ต.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ รองผู้บัญชาการฯ รักษาการผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พ.ต.อ.สรรักษ์ จูสนิท รองผู้บังคับการ รักษาราชการแทนผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ พ.ต.อ.วิเศษ เกตุพันธ์ รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ พ.ต.อ.ณรงค์เดช กมลบุตร ผู้กำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ พ.ต.ท.กิตติพงศ์ พันธ์ศรี รองกำกับการ สำนักงานกำลังพลปฏิบัติราชการกองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้ร่วมกันแถลงข่าวการตรวจค้นและจับกุม กลุ่มผู้ขายใบกำกับภาษีปลอมในวันเดียวกันถึง 2 รายใหญ่ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2558 สำหรับรายแรกเป็นกลุ่มปิ่นอนงค์ และรายที่สองเป็นกลุ่มนายชนะ ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้ ไม่มีความเกี่ยวพัน โดยพบของกลางเป็นใบกำกับภาษีและเอกสารที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก หลังจากได้สืบทราบพบว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าว มีพฤติการณ์กระทำความผิดด้วยการออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีการซื้อขายสินค้าจริงให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก ถือเป็นการออกใบกำกับภาษีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สำหรับรายแรก กลุ่มปิ่นอนงค์ ได้ดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิด จำนวน 1 คน คือ นางปิยะพร เวชพานิช และอยู่ระหว่างการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องอีกหลายคน จากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่ามีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) เพื่อแสดงยอดขายบังหน้าให้ดูสมจริงเป็นมูลค่ากว่าสามพันล้านบาท คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่าพันล้านบาท ส่วนรายที่สอง กลุ่มนายชนะ ได้ดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิด จำนวน 1 คน พบว่ามี นายชนะ ตั้งศิวิไลพร การยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) แสดงยอดขาย บังหน้าเพื่อดูให้สมจริงเช่นกัน เป็นมูลค่ากว่าสี่ร้อยล้านบาท คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท รวมถึงพบใบกำกับภาษีเล่มเปล่า ๆ พร้อมออกขายอีกหลายหมื่นฉบับ ซึ่งหากไม่ถูกตรวจค้นและจับกุมได้ กลุ่มนี้จะสร้างความเสียหายจากการขายใบกำกับภาษีเป็นจำนวนกว่าหมื่นล้านบาท หลังจากนี้กรมสรรพากรและสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะขยายผลจากข้อมูลที่ยึดมาได้ทั้งที่เป็นเอกสารและข้อมูลในคอมพิวเตอร์ รวมถึงจะติดตามจับกุม ผู้ร่วมกระทำผิดและขยายผลไปสู่ผู้ซื้อใบกำกับภาษีปลอมแล้วนำไปใช้ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งถือเป็นการทุจริตและร่วมกันทำลายความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วย
สำหรับความผิดกรณีดังกล่าว สามารถแบ่งออกเป็น 2 กรณี
กรณีที่ 1. ผู้ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิ มีโทษทางอาญาตามมาตรา 90/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท และโทษทางแพ่ง ต้องรับผิดเบี้ยปรับสองเท่าของภาษีตามมาตรา 89(6) และเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1
กรณีที่ 2. ผู้นำไปใช้ มีโทษทางอาญาตามมาตรา 90/4(7) แห่งประมวลรัษฎากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท และโทษทางแพ่ง ต้องรับผิดเบี้ยปรับสองเท่า ตามมาตรา 89(7) และเงินเพิ่ม ตามมาตรา 89/1
กรมสรรพากรเต็มที่ เต็มใจ ให้ประชาชน
สำนักบริหารกลาง ส่วนประชาสัมพันธ์
เลขที่ 90 ถนนพหลโยธิน 7 พญาไท กรุงเทพฯ 10400 โทร.02 272 9529-30 โทรสาร.02 617 3324 หรือ RD Call Center 1161
ที่มา : กระทรวงการคลัง
ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th