กระทรวงแรงงานมีความร่วมมือด้านแรงงานในทุกมิติกับประเทศต่างๆ เฉพาะอย่างยิ่งด้านพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยไทยร่วมงานกับประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม และไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ด้านพัฒนาฝีมือแรงงานหลายครั้ง
แม้ว่าจะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาแรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ แรงงานต่างด้าว และแรงงานประมง โดยมีการทำงานอย่างจริงจังและบูรณาการ โดยกระทรวงแรงงานทำงานร่วมกับหลายกระทรวง สำหรับมาตรการด้านกฎหมาย รัฐบาลไทยโดยกระทรวงแรงงานได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานประมงทะเลในกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในการประมงทะเล พ.ศ. ๒๕๕๗ ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ โดยมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๗ กฎกระทรวงฉบับนี้เพิ่มความคุ้มครองให้แก่ลูกจ้างในงานประมงทะเล โดยกำหนดห้ามจ้างแรงงานเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ทำงานในงานประมงทะเล รัฐบาลมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว สำหรับมาตรการระยะยาว ขณะนี้กระทรวงแรงงานเร่งรัดการจัดทำและทบทวนแก้ไขบันทึกความเข้าใจระดับทวิภาคี (MOU) กับประเทศเพื่อนบ้านในการสร้างความร่วมมือด้านแรงงาน การนำเข้าส่งออกแรงงาน เพื่อให้มีความโปร่งใส และช่วยป้องกันปัญหาแรงงานบังคับและการค้ามนุษย์
สำหรับการพิจารณาให้สัตยาบันอนุสัญญาของ ILO นั้น ประเทศไทยเคารพต่อหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐาน และตระหนักดีถึงความสำคัญของอนุสัญญาฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘ ซึ่งแม้ว่าประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันแต่ได้ให้สิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน กำลังดำเนินการเพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญาสิทธิขั้นพื้นฐานอีก ๑ ฉบับ คือ อนุสัญญาฉบับที่ ๑๑๑ ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติ (การจ้างงานและการประกอบอาชีพ) และอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล โดยได้ยกร่าง พ.ร.บ. แรงงานทางทะเล ขึ้นมาเป็นครั้งแรก เพื่อการอนุวัติอนุสัญญาดังกล่าว และจะพยายามผลักดันให้มีการให้สัตยาบันอนุสัญญาในอนาคตอันใกล้
กระทรวงแรงงานได้ร่วมกับไตรภาคีในประเทศยกร่างแผนงานไตรภาคีว่าด้วยงานที่มีคุณค่า และหวังว่า ILO จะให้ความร่วมมือแก่ประเทศไทยในการดำเนินงานตามแผนงานดังกล่าว และ กระทรวงแรงงานยินดีจะร่วมมือกับ ILO ในการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของงานที่มีคุณค่าต่อไป
Mr. Guy Rider กล่าวขอบคุณและยินดีที่มีโอกาสพบกับปลัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูง และแนะนำ Ms. Tomoko Nishimoto ผู้อำนวยการ ILO สำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Mr. Rider กล่าวใน ๓ ประเด็นสำคัญ คือ
(๑) ชื่นชมในความก้าวหน้าในการพิจารณาสัตยาบันอนุสัญญาของ ILO โดยอนุสัญญาฉบับที่ ๑๑๑ และอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่ ILO ให้ความสำคัญลำดับต้น และคาดว่า Ms. Nishimoto จะทำงานร่วมกับประเทศไทยเพื่อให้ได้ผลเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามขอให้พิจารณาให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘ ด้วยเนื่องจากเป็นอนุสัญญาสิทธิขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญยิ่ง
(๒) การเคลื่อนย้ายแรงงาน เฉพาะอย่างยิ่งการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งเข้าใจดีว่าประเทศไทยมีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน และมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่ง ILO ให้ความสำคัญลำดับต้นกับการปฏิบัติที่เป็นธรรม (fair treatment) แก่แรงงานต่างด้าว ในแผนงานกิจกรรมการทำงานของ ILO และชื่นชมในความมุ่งมั่นในการทำงานของรัฐบาลไทยในเรื่องนี้ซึ่งตนรับทราบจากข้อมูลของปลัดกระทรวงแรงงาน และถ้อยแถลงของรัฐบาลไทยในการประชุม GB ครั้งนี้ และดีใจที่รัฐบาลไทยตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่ง ILO ถือว่าเรายืนอยู่ข้างเดียวกัน (same side)
(๓) วาระงานที่มีคุณค่า (Decent Work) ILO รู้สึกยินดีที่กระทรวงแรงงานทำงานร่วมกับหุ้นส่วนทางสังคม องค์การนายจ้าง และลูกจ้าง แม้ตนจะเข้าใจดีว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ขอให้กำลังใจในการทำงานร่วมกับหุ้นส่วนทางสังคมต่อไป
Ms. Nishimoto กล่าวว่าตนมีพันธะหน้าที่ในการให้บริการแก่ประเทศไทยและประเทศสมาชิกอื่นๆ รวมทั้งหุ้นส่วนทางสังคมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และยินดีรับฟังคำแนะนำและการชี้แนะแนวทางจากรัฐบาลไทยด้วยเพื่อให้สามารถให้บริการประเทศไทยได้อย่างดี
นอกจากนี้ปลัดกระทรวงแรงงานได้เข้าการประชุมวาระต่างๆ ของคณะประศาสน์การ ได้แก่ กิจกรรมองค์กร ข้อกฎหมายและมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ การพัฒนานโยบาย และแผนงาน การเงิน และงบประมาณของสำนักงาน ILO
ที่มา: http://www.thaigov.go.th