พลเอก อรรถนพ ศิริศักดิ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมคณะเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการต้อนรับและให้การช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยจำนวน 21 คน หลังจากเดินทางกลับจากสาธารณรัฐอินโดนีเซียถึงประเทศไทย โดยสายการบินแอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ QZ 252 ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยกระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยเป็น 2 ส่วน เป็นไปตามที่ พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ห่วงใยและมอบหมาย โดยให้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) จัดเจ้าหน้าที่ของชุดเฉพาะกิจตามคำสั่ง กสร.ที่ 30/2558 ลงวันที่ 19 มกราคม 2558 รับคำร้อง (คร.7) เพื่อสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการให้คำแนะนำกับลูกจ้าง โดยการดำเนินการดังกล่าวจะทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และเจ้าหน้าที่กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) โดย กสร.จะเน้นภารกิจหลักในการดำเนินการให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน โดยการให้ลูกจ้างยื่นคำร้อง (คร.7) และสอบข้อเท็จจริงจากลูกจ้าง อย่างไรก็ตามหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการดำเนินการคัดแยกเหยื่อแล้วพบว่ามีผู้กระทำความผิดในคดีค้ามนุษย์จะได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนในฐานความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ส่วนกรมการจัดหางาน จะให้ความช่วยเหลือเรื่องของลักษณะการเดินทางไปทำงานว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และมอบหมายให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดให้ความช่วยเหลือลูกเรือประมงโดยการหางานให้ทำ ตามความประสงค์ โดยจะจัดหาตำแหน่งงานมารองรับตามความต้องการ
“ขอบคุณท่านเลขารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานทุกท่านที่ไปร่วมทำหน้าที่และขอให้ติดตามงานตามที่ให้นโยบายไว้แล้ว จบจบภารกิจ คือคนผิดต้องถูกลงโทษ และแรงงานต้องได้รับความคุ้มครอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
สำหรับความคืบความหน้าในการดำเนินการช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยที่ตกค้างในอินโดนีเซีย นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2557 จนถึงปัจจุบันเป็นจำนวน 5 กลุ่มประกอบด้วยกลุ่มแรก 5 ราย กลุ่มที่สอง 5 ราย กลุ่มที่สาม 5 ราย กลุ่มที่สี่ 7 ราย และกลุ่มที่ห้า 10 ราย รวมลูกเรือที่ได้รับการช่วยเหลือทั้งสิ้น 32 ราย ในจำนวนนี้พบว่ามีแรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 2 ราย จึงได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษต่อนายจ้างฐานจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเป็นลูกจ้าง นอกจากนี้ได้รับสิทธิประโยชน์ค่าจ้างเรียบร้อยแล้ว 17 รายที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินการของพนักงานตรวจแรงงานในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อเรียกร้องสิทธิประโยชน์ต่อไป
ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า รัฐบาลจะติดตามให้ความช่วยเหลือลูกเรือประมงอย่างเต็มที่ ซึ่งมีรายงานว่ามีถึง 700 คน แต่ต้องมีการพิสูจน์สัญชาติว่าเป็นสัญชาติไทย ส่วนการช่วยเหลือจะสำเร็จมากน้อยเพียงใดต้องรอการปฏิบัติหน้าที่ของชุดเฉพาะกิจก่อน อย่างไรก็ตามรัฐบาลเตรียมที่จะเดินทางไปทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางทะเลกับประเทศอินโดนีเซียในเร็วๆ นี้ เพื่อที่จะวางมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้อีก ส่วนการแก้ไขปัญหาเรือประมงไทย ขณะนี้ได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนทั้งผู้ประกอบการประมง แรงงานและติดจีพีเอสอย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้มีปัญหาในเรื่องการค้ามนุษย์ขึ้นอีกและยังคุ้มครองแรงงานอีกทางหนึ่ง
นายมีชัย ขอสงวนนามสกุล อายุ 24 ปี หนึ่งในลูกเรือประมงที่เดินทางกลับมาจากอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า ตนเป็นชาวจังหวัดบึงกาฬได้สมัครใจเข้าทำงานบนเรือประมงโดยขึ้นเรือที่ปากน้ำสมุทรปราการ ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา เมื่อไปทำงานบนเรือช่วงแรกได้รับค่าจ้างปกติ แต่เมื่อไม่นานหลังจากนั้นนายจ้างก็ไม่จ่ายค่าจ้าง รู้สึกดีใจที่ได้กลับบ้านหลังจากนี้ตนจะกลับไปซ่อมรถจักรยานยนต์ที่บ้าน จังหวัดบึงกาฬ
นายชูเกียรติ ขอสงวนนามสกุล อายุ 40 ปี เป็นชาวจังหวัดสระบุรี สาเหตุที่ไปเป็นลูกเรือประมงเนื่องจากเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้วตนถูกชักชวนจากบุคคลที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ที่บริเวณสวนสาธารณะแห่งหนึ่งใน อ.มหาชัย จ.สมุทรสาคร ไปเป็นลูกเรือประมง ส่วนหลังจากนี้จะกลับไปค้าขายอุปกรณ์ก่อสร้างที่บ้าน จังหวัดสระบุรี เนื่องจากเป็นอาชีพที่พ่อของตนได้ทำอยู่แล้ว
กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์/
“กระทรวงแรงงาน บริการด้วยใจ เพื่อคนไทยมีงานทำ”
ที่มา: http://www.thaigov.go.th