ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “การประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการนี้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการสนับสนุนให้เยาวชนไทยมีความรักและความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนไปสู่การเป็นนักประดิษฐ์ในอนาคต”
นายสุรัตน์ เสมาพงศ์พันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิศวกรรม บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ซีเกทได้สนับสนุนการแข่งขันหุ่นยนต์ในประเทศไทยมาเป็นเวลา 15 ปี ทางบริษัทฯ มีวัตถุประสงค์ในการสร้างการตระหนักและความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์หรือ STEM (Science Technology Engineering and Mathematics) ผ่านทางการปฏิบัติจริง ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นว่าศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมของเยาวชนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก และที่สำคัญคือการทำงานร่วมกันเป็นทีมของนักประดิษฐ์ เราจึงอยากเห็นพวกเขาพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมที่ก่อเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกต่อไป”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ถวิดา มณีวรรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการว่า “18 ทีม จาก 10 สถาบันการศึกษาเข้าร่วมการแข่งขันในปีนี้ นวัตกรรมของแต่ละทีมต่างมีข้อดี-ข้อด้อยที่แตกต่างกันสำหรับผู้พิการ ซึ่งเชื่อมั่นว่านอกจากเยาวชนที่เข้าร่วมการประกวดจะได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์กับทีมอื่นๆ ซึ่งจะช่วยพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้งานจริง”
ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 8 ทีมได้นำเสนออุปกรณ์ที่สร้างขึ้น สาธิตการทดลองใช้และแสดงผลลัพธ์ที่ได้ รวมทั้งนำเสนอผลงานบนเวที ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การตัดสินผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคืออุปกรณ์ที่นิสิต นักศึกษาประดิษฐ์ขึ้นจะต้องได้รับการทดสอบและทดลองแล้วว่าสามารถใช้งานได้จริง นำความสะดวกมาให้ผู้ใช้งาน และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก
ทีมไอนอยด์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ส่งผลงานหัวข้อ “ชุดอุปกรณ์ช่วยเรื่องการเดินของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกแบบแยกโมดูล” นวัตกรรมนี้ได้แสดงความสามารถพิเศษของนิสิต นักศึกษาในการพัฒนาโมดุลจำนวน 3 โมดุลเพื่อช่วยเรื่องการเดินของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก อาจารย์ที่ปรึกษาของทีมคือ ดร. จุมพล พลวิชัย สมาชิกในทีมไอนอยด์ ประกอบด้วย นายวิศณุ จูธารี นายพชร โรจอิชกุล และสมาชิกในทีมอีก 3 คน
ส่วนทีมไบโอแม็กซ์ (BIOMAX) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ส่งผลงานหัวข้อ “อุปกรณ์ป้องกันสะโพกพร้อมระบบแจ้งเตือนการล้ม” ซึ่งเป็นการออกแบบอุปกรณ์ป้องกันการกระแทกของสะโพกที่ผลิตจาก PVC Foam และ NBR พร้อมกับออกแบบระบบตรวจจับการล้ม เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้กระดูกสะโพกหักเมื่อผู้สวมใส่ล้ม พร้อมกับทำการแจ้งเตือน รูปแบบอุปกรณ์เป็นกางเกง โดยจะมีกระเป๋าบริเวณเหนือ greater trochanter เพื่อใช้ใส่แผ่นกันกระแทกบริเวณนี้ และมีอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบแจ้งเตือนการล้มติดบริเวณขอบของกางเกง อาจารย์ที่ปรึกษาของทีมคือ ดร. ภาคภูมิ สมบูรณ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาชิกในทีมไบโอแม็กซ์ ประกอบด้วย นายเผ่าพิชญ์ ศิริอาชาวัฒนา ว่าที่ร.ต. วีรพล สุวรรณฉายนายณัฐบดี มีเดชประเสริฐ นายอติชาต อภิรักษ์คุณวงษ์ และน.ส.ณัฐนพิญช์ จรูญศักดิ์
ในปีนี้ ไม่มีทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ เนื่องจากคณะกรรมการได้ตั้งหลักเกณฑ์ไว้ว่า ทีมที่จะได้รับรางวัลชนะเลิศ ซึ่งประกอบด้วยถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 80 จากคะแนนเต็ม 100 แต่ทั้งสองทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศนั้น ได้คะแนนยังไม่ถึง 80 นอกจากนี้ ยังไม่มีทีมใด ที่ทำชิ้นงานเสร็จสมบูรณ์เพื่อนำไปใช้งานจริงต่อไป อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการขอให้กำลังใจทุก ๆ ทีม ในการพัฒนาชิ้นงานอีกเล็กน้อย เพื่อนำไปให้ผู้พิการอัมพาตครึ่งซีกได้ใช้งานจริงต่อไป
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
นางสาวพรวดี ปิยะคุณ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายสื่อสารภายในองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม
บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
โทร. 0-2715-2907, Email: pornvadee.piyakhun@seagate.com
ข่าวโดย : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
ถ่ายภาพ : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร และ นายรัฐพล หงสไกร
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์
สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@most.go.th
Facebook : sciencethailand
ที่มา: http://www.thaigov.go.th