นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงฐานะการคลังของภาคสาธารณะตามระบบ สศค. (รัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และรัฐวิสาหกิจ) ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – ธันวาคม 2557) ว่ามีรายได้รวม 1,780,002 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 70,541 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.8 เป็นผลจากรัฐวิสาหกิจมีรายได้ลดลง จำนวน 117,810 ล้านบาท เนื่องจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ลดลงเป็นสำคัญ ในขณะที่ รัฐบาลและกองทุนนอกงบประมาณมีรายได้สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว จำนวน 51,793 ล้านบาท โดยมีสาเหตุสำคัญจากการได้รับค่าใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 3G ย่าน 2.1 GHz ในงวดที่ 2 และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจัดเก็บรายได้เข้ากองทุนเพิ่มขึ้น สำหรับด้านการเบิกจ่ายของภาคสาธารณะมีจำนวนทั้งสิ้น 2,016,676 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 78,485 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.7 โดยรัฐวิสาหกิจและรัฐบาลมีการเบิกจ่ายลดลง จำนวน 116,329 และ 13,722 ล้านบาท ตามลำดับ ในขณะที่ อปท. มีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากรายได้และรายจ่ายดังกล่าว ส่งผลให้ดุลการคลังภาคสาธารณะขาดดุล 236,674 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.9 ของ GDP) โดยขาดดุลลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 7,944 ล้านบาท สำหรับดุลการคลังเบื้องต้นของภาคสาธารณะ (Primary Balance) ซึ่งเป็นดุลการคลังที่สะท้อนถึงผลการดำเนินงาน และทิศทางของนโยบายการคลังอย่างแท้จริง (ไม่รวมรายได้และรายจ่ายดอกเบี้ย รวมทั้งการชำระคืนต้นเงินกู้) ขาดดุล 179,512 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.4 ของ GDP)
นายกฤษฎาฯ สรุปว่า “การใช้จ่ายภาคสาธารณะยังคงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง”
ฐานะการคลังภาคสาธารณะช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม – ธันวาคม 2557) มีรายได้ 1,780,002 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 70,541 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.8 และมีผลการเบิกจ่าย ทั้งสิ้น 2,016,676 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 78,485 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.7 ส่งผลให้ดุลการคลัง
ภาคสาธารณะขาดดุล 236,674 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.9 ของ GDP ขาดดุลลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว7,944 ล้านบาท สำหรับดุลการคลังเบื้องต้นของภาคสาธารณะ (Primary Balance) ซึ่งเป็นดุลการคลังที่สะท้อนถึงผลการดำเนินงานและทิศทางของนโยบายการคลังอย่างแท้จริง (ไม่รวมรายได้และรายจ่ายดอกเบี้ยรวมทั้งการชำระคืนต้นเงินกู้) ขาดดุล 179,512 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.4 ของ GDP (รายละเอียดตามตารางที่ 1) ดังนี้
1. ฐานะการคลังรัฐบาล รัฐบาลมีรายได้รวม 704,021 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 51,793 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.9 ประกอบด้วยรายได้รัฐบาล 548,397 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 21,910 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.2 โดยมีสาเหตุหลักจากการได้รับค่าใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 3G ย่าน 2.1 GHz งวดที่ 2 สำหรับรายได้ของกองทุนนอกงบประมาณมีจำนวน 155,624 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 29,883 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.8 เนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีรายรับจากเงินจัดเก็บเข้ากองทุนเพิ่มขึ้น 17,459 ล้านบาท และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มขึ้น 5,976 ล้านบาท
ด้านรายจ่ายมีจำนวนทั้งสิ้น 913,671 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 13,722 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.5 ประกอบด้วย
- รายจ่ายจากงบประมาณ จำนวน 827,289 ล้านบาท (ไม่รวมการชำระคืนต้นเงินกู้ รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังและเงินเพิ่มทุน) ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 13,540 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.6
- รายจ่ายเงินกู้นอกงบประมาณที่สำคัญประกอบด้วย (1) รายจ่ายจากเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) 1,004 ล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายสำหรับโครงการปรับปรุงทางรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 290 ล้านบาท และการเบิกจ่ายในโครงการมาตรวิทยาแห่งชาติ ระยะที่ 3 สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ จำนวน 156 ล้านบาท (2) รายจ่ายเพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ 587 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายของโครงการก่อสร้างถนนของกรมทางหลวงชนบท จำนวน 262 ล้านบาท (3) รายจ่าย ตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง (TKK) 974 ล้านบาท และ (4) รายจ่ายเงินกู้ต่างประเทศ 345 ล้านบาท
- รายจ่ายกองทุนนอกงบประมาณ 83,472 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 2,176 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.7 เป็นผลมาจากการที่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น 8,150 ล้านบาท ในขณะที่กองทุนประกันสังคมมีรายจ่ายผลประโยชน์เพื่อสังคมลดลง 4,232 ล้านบาท
ดุลการคลังของรัฐบาลในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558 ขาดดุล 209,650 ล้านบาท (คิดเป็น ร้อยละ 1.7 ของ GDP) ขาดดุลลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 65,515 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.8
2. ฐานะการคลังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อปท. จำนวน 7,853 แห่ง มีรายได้ 177,684 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 38,112 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.7 เป็นผลจากการได้รับเงินอุดหนุนลดลง จำนวน 39,345 ล้านบาท ในขณะที่ รายได้ที่จัดเก็บเองและรายได้ที่ได้รับจากการจัดสรรภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บ และแบ่งให้เพิ่มขึ้น 826 และ 603 ล้านบาทตามลำดับ สำหรับด้านรายจ่าย คาดว่า อปท. มีรายจ่ายรวม 159,851 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 17,978 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.7 ประกอบด้วยรายจ่ายประจำ 104,908 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 54,943 ล้านบาท ทั้งนี้ จากรายได้และรายจ่ายดังกล่าว คาดว่าดุลการคลัง อปท. เกินดุล 17,833 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.1 ของ GDP) เกินดุลลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 56,090 ล้านบาท
3. ฐานะการคลังรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (รัฐวิสาหกิจฯ) มีรายได้จำนวน 1,097,990 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 117,810 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.7 โดยมีสาเหตุหลักจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีรายได้ลดลงจำนวน 117,550 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลง สำหรับรายจ่ายของรัฐวิสาหกิจฯ มีการเบิกจ่ายรวม 1,142,847 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 116,329 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.2 เป็นผลมาจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีรายจ่ายประจำลดลง 79,828 และ 22,503 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งจากรายได้และรายจ่ายดังกล่าว ดุลการคลังของรัฐวิสาหกิจขาดดุลทั้งสิ้น 44,857 ล้านบาท ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 1,481 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.4
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 02 273 9020
ที่มา : กระทรวงการคลัง
ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th