ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวได้ถูกยกร่างขึ้นภายหลังจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์เมื่อปี 2540 ซึ่งในขณะนั้นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ส่วนหนึ่งไม่สามารถดำเนินการสร้างบ้านได้แล้วเสร็จ และมีการนำเงินดาวน์ที่ได้จากผู้ซื้อบ้านไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ทำให้ผู้ซื้อบ้านไม่ได้บ้าน และไม่ได้รับเงินดาวน์คืนด้วย ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้เสนอให้มีการตราพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 เพื่อกำหนดให้มีคนกลางในการทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อได้รับทรัพย์สิน และผู้ขายได้รับเงินตามที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันไว้ อันจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการระบบการซื้อขายสินค้าให้เกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันพบว่ายังมีข้อจำกัดบางประการของกฎหมายที่ทำให้การนำไปใช้ยังไม่แพร่หลายมากนัก กระทรวงการคลังจึงได้รวบรวมประเด็นปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 ขึ้น ซึ่งได้จัดทำแล้วเสร็จไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2557 ที่ผ่านมา โดยขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการยกร่างแก้ไขพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 ซึ่งสาระสำคัญส่วนใหญ่จะเป็นการแก้ไขข้อจำกัดในการนำกฎหมายไปใช้ รวมทั้งได้ขยายขอบเขตให้ครอบคลุมสินค้าทุกประเภทให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างทั่วถึงมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ เมื่อแก้ไขกฎหมายแล้วเสร็จ กระทรวงการคลังหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการนำกฎหมายไปใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มความเชื่อมั่นในการซื้อขายสินค้าให้เกิดขึ้นกับประชาชนทั้งผู้ซื้อและผู้ขายอย่างแท้จริง
สำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 02-273-9020 ต่อ 3695
ที่มา : กระทรวงการคลัง
ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th