กระทรวงวิทย์และพันธมิตร จับมือเชฟรอน เปิดตัวโครงการ “Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” พัฒนาการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของไทยอย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Friday April 3, 2015 14:33 —สำนักโฆษก

3 เมษายน 2558 นายอนัน ปัญญารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามระหว่าง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ในงานแถลงเปิดตัวโครงการ “Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ซึ่งเป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบาย “รัฐร่วมเอกชน” โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพทางการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรม (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Math) หรือ STEM ทั้งในระบบการศึกษาสายสามัญและการศึกษาสายอาชีพ ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เป็นระยะเวลา 5 ปี ด้วยงบประมาณรวมกว่า 900 ล้านบาท

ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “รัฐบาลมีนโยบายที่ต้องการเสริมสร้างสังคมนวัตกรรม ส่งเสริมระบบการเรียนการสอน โดยเฉพาะในสาขา STEM และส่งเสริมการผลิตกำลังคนในสาขาที่ขาดแคลน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) มีภารกิจด้านการวางนโยบายทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ตอบรับต่อทิศทางการพัฒนาของประเทศ การพัฒนากำลังคนที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ นอกจากนี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ก็ยังมีพันธกิจโดยตรงในการสร้างความตระหนักและการรับรู้ด้านวิทยาศาสตร์แก่สาธารณะ โครงการ “Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” นี้มีเป้าหมายที่สอดรับกับหน่วยงานหลักทั้งสามของกระทรวงฯ ในการขับเคลื่อนความร่วมมือรัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาทักษะกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่ใช้พื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันจะนำมาสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตามยุทธศาสตร์ของประเทศ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มการรับรู้ในสังคมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบบูรณาการ โดยเชฟรอนกับสวทช.เองได้ทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2557 ในการสนับสนุนเยาวชนไทยให้ไปร่วมเข้าค่ายอวกาศระดับนานาชาติ และในปีนี้เราได้ร่วมกันจัดโครงการ “Enjoy Science: Let’s Print the World” ที่เป็นการจัดการประกวดไอเดียผลงาน 3D printing ครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เราคาดว่าจะช่วยเป็นแรงผลักดันให้เด็กรุ่นใหม่หันมาสนใจงานด้านวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น

นพ. ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “การปฏิรูปการศึกษาไทยจะสำเร็จได้ต้องเกิดจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการสอนในห้องเรียนที่ช่วยให้เด็กไทยได้คิดวิเคราะห์เป็น ทั้งนี้ จุดแรกที่ต้องปรับคือครู หากเราสามารถทำให้ครูเรียนรู้แนวคิดหลักให้เข้าใจอย่างถ่องแท้และปรับวิธีการจัดการเรียนรู้เพื่อให้เด็กได้คิดเป็น สื่อสารเป็น แก้ปํญหาได้ มีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักรับผิดชอบ และมีแรงบันดาลใจในการเรียนเพื่อสร้างความก้าวหน้าทางอาชีพได้ โครงการ “Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ถือว่าเป็นโครงการที่จะเข้ามาสนับสนุนการทำงานของ ทั้ง สพฐ.และสอศ. เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาด้าน STEM ให้โรงเรียนในสังกัดทั้ง สพฐ.และ สอศ.กว่า 660 แห่งที่ขาดโอกาสทั่วประเทศ การเชื่อมโยงพันธกิจด้านการผลิตครูและพัฒนาครูประจำการกับมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นจะช่วยพัฒนาให้การศึกษาไทยเกิดความยั่งยืนไม่สิ้นสุด”

นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เผยว่า “เชฟรอนเป็นบริษัทพลังงานชั้นนำที่มีส่วนสำคัญในการบุกเบิกและพัฒนาอุตสาหกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยมาตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี เราตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาที่จะเป็นรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ STEM ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สอดรับกับการเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบดิจิตัลอย่างเต็มรูปแบบ จึงเป็นที่มาของโครงการ “Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ที่มุ่งยกระดับการเรียนการสอนด้าน STEM ตลอดทั้งระบบ ด้วยการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคสังคมและภาคการศึกษาต่างๆ โดยในด้านการศึกษาสายสามัญ เราเริ่มจากการพัฒนาผู้สอนและหลักสูตรในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในระดับชั้นมัธยมต้นให้มีทักษะการสอนแบบตั้งคำถามและการลงมือปฏิบัติ เพื่อให้เยาวชนเห็นว่าวิชาเหล่านี้เป็นเรื่องสนุกและใกล้ตัว และเพื่อส่งเสริมทักษะการเป็นผู้เรียนแห่งศตวรรษที่ 21 ที่รู้จักคิด วิเคราะห์ ตั้งคำถาม และกล้าแสดงออก นอกจากนั้นโครงการฯ จะยังดำเนินงานอย่างเข้มข้นในการเรียนการสอนสายอาชีพควบคู่ไปด้วย เพื่อพัฒนาบุคลากรที่สามารถตอบสนองต่อการพัฒนาของประเทศในระยะยาวในอุตสาหกรรมสำคัญต่างๆ ให้มีทักษะที่ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน ด้วยการพัฒนาหลักสูตรร่วมกันและสานความร่วมมือแบบ รัฐร่วมเอกชน เพื่อให้เยาวชนและครูผู้สอนได้รับความรู้และประสบการณ์จริงที่ตรงกับสายงานที่ภาคเอกชนต้องการ ซึ่งจะช่วยลดอัตราการว่างงาน เพิ่มรายได้ และในขณะเดียวกันก็ลดการขาดแคลนแรงงานฝีมือในภาคอุตสาหกรรมอีกทางหนึ่ง นอกจากนั้นเราจะยังมีกิจกรรมต่างๆ อีกมากมายที่จะช่วยเสริมความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ ให้กับทั้งผู้เรียนและผู้สอน ไม่ว่าจะเป็นการจัดค่าย การประกวด การประชุมสัมนา หรือการจัดงานมหกรรม”

หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า “นโยบายการพัฒนาแรงงานด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นเรื่องลำดับต้นๆ ที่เราให้ความสนใจ ปัจจุบัน ขีดความสามารถของแรงงานในด้านนี้ยังมีจำกัด จึงมีผลต่อการพัฒนาของทั้งภาครัฐและเอกชน ดังนั้น เราจึงต้องเร่งดำเนินการ โดยเริ่มจากการพัฒนาคนซึ่งเราก็ต้องการการสนับสนุนจากหน่วยงานภาคเอกชนเพื่อพัฒนามาตรฐานสมรรถนะกำลังคนให้มีความเป็นสากล เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ช่วยยกระดับทักษะฝีมือของกำลังคนให้ตอบรับต่อความต้องการของภาคอุตสกรรมในการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มผลิตภาพในการทำงาน และ เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีเมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โครงการ “Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะช่วยสานต่อความริเริ่มของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่ได้จัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 1 สมุทรปราการ โดยความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เพื่อมาผนึกความร่วมมือในการพัฒนาเยาวชนในสถานศึกษาให้เป็นกำลังคนที่เป็นตัวป้อนที่มีคุณภาพสู่สถานประกอบการ ทั้งนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ยินดีเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมขับเคลื่อนการสร้างความร่วมมือรัฐและเอกชนเพื่อยกระดับคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ในประเทศเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า “แม้ว่าตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้พัฒนาและมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แต่ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมยังคงเผชิญกับภาวะการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์อย่างต่อเนื่อง พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศ เราควรทำให้เด็กสนใจจนเกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อเด็กมีพื้นฐานและคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้ ก็จะสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้มาไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งในชีวิตประจำวัน และการประกอบอาชีพในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้การพัฒนาด้านนวัตกรรมของไทยก้าวหน้าอย่างมั่นคง สถาบันคีนันแห่งเอเซียเองได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับเชฟรอนมาตั้งแต่ปี 2556 ในโครงการ Chevron – INCREASE โดยในโครงการนี้ เราจะนำหลักสูตรและรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์แบบสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry-based) ผนวกกับการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ที่เน้นการแก้ปัญหาจากโจทย์ในสถานการณ์จริงมาจัดฝึกอบรมให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ในจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ เราได้นำประสบการณ์จากโครงการ Chevron-INCREASE และจากที่คีนันสั่งสมบทเรียนและองค์ความรู้ไว้กว่า 10 ปี มาปรับปรุงและพัฒนาเข้ากับโครงการ “Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” โดยเน้นเรื่องการสร้างความยั่งยืนของการยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วยการสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในระดับภูมิภาค เราคาดว่าเมื่อโครงการนี้สำเร็จออกมาเป็นรูปธรรมจะช่วยยกระดับการศึกษา STEM ในประเทศให้มีคุณภาพสูงขึ้น เพื่อเตรียมกำลังคนให้พร้อมรับกับการแข่งขันด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน”

ภายใต้ความร่วมมือของเชฟรอนประเทศไทย สถาบันคีนันแห่งเอเซีย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โครงการ “Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” จะเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะเปลี่ยนโฉมการเรียนรู้พร้อมกับยกระดับการศึกษาในวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ อันจะเป็นประโยชน์แก่ตัวนักเรียนและกับองค์การทางการศึกษา รวมถึงสถานประกอบการที่นักเรียนเหล่านี้จะเข้าไปทำงาน โดยสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะในการติด วิเคราะห์ แก้ไขปัญหา และมีความชำนาญในสาขาอาชีพที่ตรงกับความต้องการ ซึ่งจะส่งผลให้เรามีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ภายในวันเดียวกันช่วงบ่าย ดร.พิเชฐฯ ได้รับเกียรติให้เป็นประธานในงานเปิดตัวโครงการ Chevron’s Thailand Partnership Initiative ณ โรงแรมเซนต์รีจีส ถ.ราชดำริ (รายละเอียดข้อมูลโครงการดังกล่าว) พร้อมกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดตัวโครงการฯ โดยได้กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีนโยบายในการดำเนินงาน 5 ด้าน ดังนี้

1. การพัฒนากำลังคน/สร้างความตระหนัก การเพิ่มบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้าน วทน. ที่ยังขาดแคลน ในการปฏิรูประบบการพัฒนากำลังคนเพื่ออนาคต ยกระดับให้เป็นโครงการระดับชาติ และมีการกระจายโอกาสให้ทั่วถึงทั้งประเทศ โดยอาศัยสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่หันมาสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้นโดยการสร้างความชัดเจนในเส้นทางอาชีพ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับเด็กที่เลือกเรียนวิทยาศาสตร์ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน

2. Talent Mobility เป็นกลไกสำคัญที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย เมื่อเอกชนเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากขึ้น จะเกิดความต้องการบุคลากรด้าน วทน. มากขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน บุคลากรเหล่านี้กระจายตัวอยู่ในภาครัฐและภาคอุดมศึกษาถึง 83 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ส่วนของภาคเอกชนมีบุคลากรดังกล่าวเพียง 17 เปอร์เซ็นต์ นโยบาย Talent Mobility จะทำให้เกิดการดึงศักยภาพของนักวิจัยไทยที่กระจุกตัวอยู่ในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของรัฐจำนวนมากมาช่วยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของสถานประกอบการภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม และพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทยให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐ ก่อให้เกิดการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างองค์ความรู้ใหม่ระหว่างกัน

3. มาตรการเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการเพิ่มมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก 200% เป็น 300% ซึ่งมาตรการดังกล่าว มีความสำคัญต่อการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทย เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สนับสนุนนโยบายด้านการเพิ่มการลงทุนวิจัยและพัฒนาของประเทศโดยรวม ให้ได้ 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และเพิ่มสัดส่วนการวิจัยและพัฒนาของเอกชนเป็น 70% ต่อ 30% ที่ส่งผลให้ภาคเอกชนเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ทั้งที่เป็นเอกชนรายใหญ่และบริษัทข้ามชาติ ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจ SMEs ของไทย ที่เป็นห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของภาคเอกชน

4. การนำงานวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และส่งเสริมการส่งออก ส่งเสริม SMEs โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการรายย่อย ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนทั่วประเทศ ให้เข้าถึง วทน. ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น รองรับความต้องการในการใช้บริการที่จะมีเพิ่มมากขึ้นใน อนาคต และสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชน ในการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้

5. การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้าน วทน. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ด้วย One-stop Service ด้านการวัดและวิเคราะห์ มาตรฐานและคุณภาพ การบริการห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมสังคมสีเขียว เทคโนโลยีสีเขียว การลดกำแพงทางการค้า การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์ไทยเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

รายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชน โปรดติดต่อ :

ฝ่ายสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด

ดารินทร์ นพคุณ / นิดา ภู่วนิชย์ / สรัณศรี ประวัติพัฒนากูล

โทร 0-2545-6930, 0-2545-5848, 0-2545-6876

อีเมล: DNopkhun@chevron.com / Nida.P@chevron.com / Saransri@chevron.com

ที่ปรึกษาฝ่ายประชาสัมพันธ์

คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์

นิธิกานต์ จิตเจริญ หรือ เสาวภา สุคันธี

โทร. 0-2627-3501 ต่อ 157 หรือ 191

อีเมล: nchitchareon@carlbyoir.com

ผู้ประสานงาน : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทร: 02 333 3727-32 โทรสาร: 02 333 3834

อีเมลล์: pr@most.go.th

เฟสบุ๊ค: sciencethailand

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ