พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในโอกาสเป็นประธานการประชุมกระทรวงแรงงาน ว่า การดำเนินงานของกระทรวงแรงงาน 6 เดือนต่อจากนี้ต้องปรับการทำงาน สถานการณ์ ณ ปัจจุบันจะต้องวางกำหนดทำอย่างไรให้กระทรวงแรงงานมีทิศทางการทำงานที่ชัดเจน ต้องทำงานเชิงรุก เพิ่มคุณภาพ โดยวางรากฐานสู่อนาคต ทั้งเรื่องการทำงาน การบูรณาการระหว่างกรม การวางรากฐานที่แข็งแรงในการพัฒนาบุคลากรของกระทรวงแรงงานในอนาคตซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รายงานเรื่องการจัดระบบแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา หลังวันที่ 31 มีนาคม 2558 กำหนดให้มีระยะเวลาในการรายงานตัวเพื่อตรวจสัญชาติ เป็นเวลา 90 วัน โดยเปิดให้รายงานตัววันแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งมีแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชามารายงานเพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสัญชาติทั้งหมด 10,405 คน เป็นแรงงาน 10,202 คนและผู้ติดตาม 203 คน จำนวนนายจ้าง จำนวน 2,951 ราย เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร วันที่ 1 เมษายน 2558 มีผู้มารายงานเพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสัญชาติ จำนวน 4,459 คน วันที่ 2 เมษายน 2558 มีผู้มารายงานเพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสัญชาติ จำนวน 4,478 คน
อย่างไรก็ตาม นอกจากการให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติรายงานตัวแล้วยังอนุญาตให้มีการจดทะเบียนแรงงานประมง เฉพาะวันที่ 1 เมษายน 2558 ตัวเลขยังต่ำกว่าที่ได้ประมาณการณ์ไว้ คือมีแรงงานต่างด้าวมาจดทะเบียนทั้งสิ้น 128 คน แบ่งเป็นเมียนมา 84 คน กัมพูชา 42 คน และลาว 2 คนเป็นแรงงาน 127 คน และผู้ติดตาม 1 คน นายจ้างเจ้าของเรือประมง 15 ราย
ส่วนด้านการดำเนินการช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยจากเกาะอัมบน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้จัดส่งพนักงานตรวจแรงงานและชุดเฉพาะกิจเข้าไปรับคำร้อง สอบถามข้อเท็จจริงและให้คำปรึกษากับแรงงานประมง 20 คน พบว่า มีนายจ้างอยู่ในท้องที่จังหวัดสมุทรสาคร นายจ้าง 13 ราย ลูกจ้าง 13 คน สมุทรปราการ นายจ้าง 3 ราย ลูกจ้าง 5 คน นครศรีธรรมราช นายจ้าง 1 ราย ลูกจ้าง 1 คน และจังหวัดระยอง นายจ้าง 1 ราย ลูกจ้าง 1 คน มียอดเงินสิทธิประโยชน์ตามคำร้องเป็นค้าจ้างค้างจ่ายและค่านายหน้าที่ถูกหักจากค่าจ้าง รวมเป็นเงิน 2,086,242 บาท ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานได้รับคำร้องตามแบบ คร.7 เรียบร้อยแล้ว และจะได้จัดส่งคำร้องไปยังสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดที่นายจ้างมีภูมิลำเนาเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป อย่างไรก็ตาม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน จะช่วยเหลือแรงงานในเรื่องค่าจ้างที่นายจ้างค้างจ่ายและสิทธิประโยชน์ต่างๆที่ควรได้รับ ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเหยื่อที่ถูกหลอกไปลงเรือก็จะเอาผิดตามกฎหมายของกระทรวงแรงงานต่อไป
“โดยที่ผ่านมาสื่อโทรทัศน์เผยแพร่เรื่องแรงงานที่ไปทำงานและติดค้างอยู่ที่อัมบน สาธารณรัฐอินโดนีเซียกันมาก คนรับสื่อมากขึ้น ทำให้คนมีทัศนะคติที่ไม่ดีต่ออาชีพทำประมงทะเล ส่วนการดำเนินการช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยจากเกาะอัมบน กระทรวงแรงงานจะดำเนินการใน 3 เรื่องหลักๆ คือ สำรวจว่าผู้ประกอบการรายใดค้างค่าจ้างแรงงานบ้าง ปัจจุบันมีแรงงาน 20 คน เป็นเงินประมาณ 2 ล้านกว่าบาท กระทรวงแรงงาน โดยสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยกรมการจัดหางานก็จะได้เข้าไปตรวจสอบถึงที่มาของการไปทำงานว่าเป็นการหลอกลวงคนหางานหรือไม่ รวมทั้งหากแรงงานประสงค์จะหางานทำกรมการจัดหางานก็จะจัดบริการในส่วนนี้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รายงานถึงเรื่องร่างพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. .... ซึ่งเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงแรงงานเร่งรัดดำเนินการเสนออนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ.2549 ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบการให้สัตยาบันก่อนเสนออนุสัญญาดังกล่าวและร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ. .... ไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาไปพร้อมกัน อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานต้องสร้างความเข้าใจว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดความหมายของกรณีที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทะเล อาทิ เรือคนประจำเรือ เจ้าของเรือ เรือเดินทะเลที่บรรทุกสินค้าไปต่างประเทศ เรือขนส่งสินค้า เรือทัวร์ เรือสำราญ เพราะสังคมส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจคิดว่าเกี่ยวพันกับแรงงานประมง
สำหรับการดำเนินงานของศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) ต้องเร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนคนไทยวัยแรงงานได้เข้าถึงการให้บริการของศูนย์บริการฯ มากยิ่งขึ้นเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่เร่งดำเนินการที่มีประโยชน์ต่อประชาชน ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
กระทรวงแรงงาน “บริการด้วยใจ เพื่อคนไทยมีงานทำ”
ที่มา: http://www.thaigov.go.th