ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้กำหนดมาตรการเร่งรัดปราบปรามและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติด โดยให้ทุกจังหวัดและอำเภอ ดำเนินการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในทุกพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชนอย่างจริงจัง ภายใต้แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดปี 2558 และได้มอบหมายให้กรมการปกครอง และทุกหน่วยปฏิบัติของกระทรวงมหาดไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้อง นำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จากศูนย์อำนวยป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ศอ.ปส.) ขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ ทั้งด้านป้องกัน ปราบปราม และบำบัดฟื้นฟู โดยบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านกลไกระดับจังหวัดและอำเภอ มีผลการดำเนินงานตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2557 – ปัจจุบัน ดังนี้
1. ด้านการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด และการติดตามช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดฯ กระทรวงมหาดไทยได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการบำบัดฟื้นฟูในระบบสมัครใจ ผ่านค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งได้มีการปรับปรุงและพัฒนาศูนย์บำบัดฯ ตามมาตรฐานทางวิชาการตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำหลักสูตรการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด และเสริมหลักสูตรเรื่องการฝึกอาชีพต่างๆ เข้าไปด้วยจึงเป็นการบำบัดรักษาแบบครบวงจร เพื่อให้ ผู้ที่ผ่านการบำบัดสามารถนำไปต่อยอด ในการประกอบอาชีพที่สุจริต มีรายได้เลี้ยงตนเองและดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข สามารถกลับคืนเป็นคนดีสู่สังคมและไม่หวนกลับไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติดอีกต่อไป โดยขณะนี้มีผู้ผ่านการบำบัดในระบบสมัครใจตามแผนปฏิบัติการฯ ปี 2558 แล้ว จำนวน 21,654 ราย นอกจากนี้ ยังมีการติดตามดูแลช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดฯ อย่างต่อเนื่อง โดยมีทีมสหวิชาชีพ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้าไปติดตามช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดทั้งเรื่องอาชีพ การศึกษา และเรื่องอื่นๆ ตามความต้องการและความเหมาะสม ได้ให้ความช่วยเหลือตามที่ร้องขอไปแล้ว จำนวน 3,651 ราย
2. ด้านการป้องกัน ในระยะเร่งด่วนเน้นดำเนินการในหมู่บ้านเป้าหมายที่มีปัญหายาเสพติดรุนแรง จำนวน 7,972 หมู่บ้าน/ชุมชน โดยใช้กลไกของคณะกรรมการหมู่บ้าน(กม.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ดำเนินการ โดยมีชุดปฏิบัติการประจำตำบล (ชปต.) เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา ลงไปทำหน้าที่สร้างความเข้าใจและเสริมสร้างความเข้มแข็งของคนในหมู่บ้าน/ชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่และให้ชุมชนได้ตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติด มีผลการดำเนินงานไปแล้ว 2,978หมู่บ้าน/ชุมชน และจะเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของหมู่บ้านอื่นๆ มีปัญหายาเสพติดไม่รุนแรงหรือไม่มีปัญหายาเสพติดจะเน้นการติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ความรุนแรงของปัญหายาเสพติดขยายตัวเพิ่มขึ้น
3. ด้านการปราบปราม ภายใต้การขับเคลื่อนของศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดและอำเภอได้ดำเนินการปราบปราม จับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดทั้งผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้สมคบและสนับสนุนอย่างจริงจังทุกพื้นที่ โดยฝ่ายปกครองสามารถจับกุมคดียาเสพติด ได้จำนวน 2,774 คดี ผู้ต้องหา 3,187 คน ยึดของกลางเป็นยาเสพติดประเภทต่างๆ ได้เป็นจำนวนมาก อาทิ ยาบ้ากว่า 5.6 แสนเม็ด เฮโรอีน ยาไอซ์ กัญชา และใบกระท่อมกว่า 1 หมื่นกิโลกรัม
นอกจากนี้ ในการติดตามผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่กระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับติดตามผลการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจังหวัดต่างๆ โดยในระยะแรกจะลงไปในพื้นที่ที่มีปัญหายาเสพติดรุนแรงและมีปัญหาซ้ำซาก 21 จังหวัด ที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่จังหวัดน่าน พะเยา เชียงราย และพิษณุโลก เพื่อรับทราบข้อมูล ปัญหาข้อขัดข้อง และรับฟังข้อเสนอแนะจากประชาชน รวมไปถึงการนำข้อมูลของผู้ค้ายาเสพติดรายสำคัญไปสอบถามกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อติดตามเบาะแส และจะนำข้อมูลที่ได้รับรายงานต่อคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหา ยาเสพติดทราบต่อไป ซึ่งถือเป็นมาตรการในการกดดันและป้องปรามผู้ค้ายาเสพติดอีกทางหนึ่งด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยจะเร่งแก้ไขปัญหายาเสพติดในทุกมิติอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อลดระดับความรุนแรงของปัญหายาเสพติดซึ่งเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมไทยให้ลดลงให้ได้ ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้กำชับให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน X – Ray ปัญหายาเสพติดในพื้นที่รับผิดชอบของตนเองอย่างเข้มข้น ลงพื้นที่ออกตักเตือน ตรวจสอบพื้นที่เสี่ยง และดำเนินมาตรการจัดระเบียบสังคมตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทยในทุกๆ เรื่อง เพื่อไม่ให้มีการกระทำผิดกฎหมายยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายอื่นๆ ในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนสร้างสังคมที่เข้มแข็งปลอดยาเสพติด เพื่อลดผลกระทบที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนและสังคม ทำให้สังคมไทยเป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th