พลตำรวจเอก อดุลย์ เปิดเผยหลังการประชุมว่า ได้รับรายงานจากทีมชุดเฉพาะกิจช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยตกค้างบนเกาะอัมบน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งมี พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.)ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นหัวหน้าคณะ ว่า หลังจากจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือลูกเรือประมง (One Stop Service) ที่เกาะอัมบน เพื่อรับลงทะเบียนลูกเรือประมง ๑๐ วัน (วันที่ ๒๙ มี.ค. ๕๘ ถึง ๗ เม.ย. ๕๘) พบว่า มีลูกเรือประมงเข้ารายงานตัวกับทีมชุดเฉพาะกิจจากประเทศไทยแล้ว จำนวนทั้งสิ้น ๑๖๓ คน เป็นคนไทย ๗๒ คน เมียนมาร์ ๖๕ คน ลาว ๘ คน และกัมพูชา ๑๘ คน ส่วนการพิสูจน์ทราบผู้เสียชีวิตในสุสานตั้งแต่วันที่ ๒๙ มี.ค. – ๗ เม.ย. ๕๘ พบว่ามีหลุมศพคนไทย จำนวนทั้งสิ้น ๑๑๒ ศพ ซึ่งพบที่เกาะอัมบน ๒๒ หลุม ที่เกาะเบนจิน่า ๙๐ หลุม สำหรับการตรวจแรงงานในเรือประมงที่เกาะอัมบนและเกาะเบนจินา ตั้งแต่วันที่ ๑ – ๗ เม.ย. ๕๘ สามารถตรวจเรือได้ทั้งสิ้น ๘๐ ลำ พบลูกเรือประมงจากการตรวจเรือ จำนวนทั้งสิ้น ๑,๔๖๖ คน
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือแรงงานประมง ที่สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดชุดเฉพาะกิจ ประกอบด้วย กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กรมการกงสุล กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เดินทางไปเกาะอัมบน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ ๒๗ มี.ค. – ๕ เม.ย. ๕๘ เพื่อปฏิบัติภารกิจ ๔ ประการ คือ ๑. การช่วยเหลือคนไทยที่ตกค้างอยู่บนเกาะอัมบน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ๒. การช่วยเหลือแรงงานที่ติดค้างบนเรือและผู้ที่ต้องการเดินทางกลับ ๓. การตรวจสอบศพคนไทยในสุสาน และ ๔. การส่งกลับประเทศไทยอย่างปลอดภัย ซึ่งทีมชุดเฉพาะกิจ พม.ได้ปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย และจะเดินทางกลับประเทศไทยพร้อมลูกเรือประมงไทย จำนวน ๖๘ คน โดยเครื่องบิน C๑๓๐ ซึ่งกองทัพอากาศจัดไปรับที่เกาะอัมบน และจะเดินทางถึงท่าอากาศยานดอนเมือง เวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น. ในวันที่ ๙ เม.ย. ๕๘
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมครั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางแผนเตรียมขั้นตอนการรับแรงงานประมงไทยดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว โดยตนได้มอบหมายให้นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหัวหน้าคณะให้การต้อนรับ และมีเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับเอกสารและวิธีการผ่านคนเข้าเมือง หลังจากนั้นจะนำส่งเข้าสถานพักพิงชั่วคราว เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดแยกผู้เสียหายต่อไป
“ขอย้ำว่า การปฏิบัติภารกิจของทีมชุดเฉพาะกิจ พม. ครั้งนี้ ได้ดำเนินการพิสูจน์ทราบตามข้อมูลข้อเท็จจริง มีความชัดเจน โปร่งใสในการปฏิบัติงาน ยึดหลักสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนการคุ้มครองช่วยเหลือและเยียวยาผู้เสียหายเป็นสำคัญ” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย
ที่มา: http://www.thaigov.go.th