ก.แรงงาน เตรียม ‘ต่างด้าว’ หนุนเอกชนลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ข่าวทั่วไป Thursday April 9, 2015 13:41 —สำนักโฆษก

คืบหน้าที่ประชุมอนุฯ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จฯ ให้เร่งรัดการทำงานจัดระเบียบต่างด้าว 3 สัญชาติ ตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าวในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เผยแรงงานต่างด้าวคือสิ่งจำเป็น สนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน กำชับ ก.แรงงาน ประมาณการความต้องการแรงงานให้สอดคล้องความต้องการผู้ประกอบการ ด้าน ‘รัฐมนตรีแรงงาน’ ชี้ ขรก.เปลี่ยนทัศนคติ วิธีการทำงานมองมิติใหม่สู่โลกอนาคต ย้ำ เกียรติและศักดิ์ศรีของข้าราชการอยู่ที่ประชาชนพึงพอใจ

พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในการประชุมคณะอนุกรรมการศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงาน สาธารณสุข และความมั่นคง ครั้งที่ 2/2558 ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงต่างประเทศเสนอให้ขยายการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 เรื่องการจัดระบบการจ้างคนต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่เข้ามาทำงานในลักษณะไป – กลับหรือตามฤดูกาล ตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 จากเดิมให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งจะครบวันที่ 18 เมษายน 2558 ขยายออกไปอีก 90 วัน ซึ่งขอให้ดำเนินการเร่งรัดให้เร็วที่สุด หากมีอะไรมากระทบคงต้องใช้มาตรการอื่นมาช่วยเสริม นโยบายการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนั้น แรงงานต่างด้าวคือสิ่งจำเป็นที่เราอยากได้ เมื่อภาคเอกชนเข้าไปลงทุนก็ต้องสนับสนุนกำลังแรงงาน เมื่อมองมิติดังกล่าวจะทำให้การทำงานเร็วขึ้น ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากการนำแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องและได้รับใบอนุญาตทำงานชั่วคราวแล้วต้องซื้อบัตรประกันสุขภาพกับสำนักงานประกันสังคม จะต้องไปศึกษารายละเอียดและปรับปรุงแก้ไขปัญหาให้ชัดเจนถึงแนวทางการปฏิบัติ ไม่ให้เกิดการทำงานซ้ำซ้อนกัน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า การคุ้มครองสิทธิแรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษมีความเท่าเทียมกับแรงงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษกับแรงงานพื้นที่ชั้นใน ขณะเดียวกันการประมาณการตัวเลขความต้องการแรงงานที่น่าจะเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ซึ่งมีตัวเลขตั้งต้น ขอให้ตัวเลขประมาณการสามารถปรับเปลี่ยนได้ เนื่องจากเมื่ออุตสาหกรรมเกิดขึ้น ความต้องการแรงงานจะมีความชัดเจนขึ้นด้วย ต่อไปคงต้องระบุด้วยว่าความต้องการแรงงานตั้งแต่ระดับไหนบ้าง อย่างไรก็ตามส่วนราชการทั้งหมดจะต้องอำนวยความสะดวกในการทำงานให้กับประชาชนและภาคเอกชนให้ดีที่สุด ซึ่งเป็นมิติที่ทางรัฐบาล โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการว่า ภาคราชการเป็นผู้สนับสนุนภาคเอกชน ขณะเดียวกันจะต้องกำกับกฎกติกา กฎหมาย ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันสถานการณ์ที่โลกเปลี่ยนแปลงไป

“มิติใหม่เราต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือประชาชน เจ้าหน้าที่ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ วิธีการทำงานให้ภาคราชการไปสู่จุดนั้นในอนาคต เกียรติและศักดิ์ศรีของข้าราชการอยู่ที่ประชาชนพึงพอใจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ทั้งนี้จากข้อมูลของกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน เปิดเผยถึงตัวเลขของแรงงานต่างด้าวในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่เข้ามาทำงานแล้วและการประมาณการจำนวนที่จะเข้ามาเพิ่มเติมตามมาตรา 14 อาทิ จังหวัดตากปัจจุบันมีแรงงานเมียนมาเข้ามาทำงานแล้ว 57,000 คน คาดการณ์ว่าจะเข้ามาอีก 60,000 คน จังหวัดมุกดาหารมีแรงงานลาวเข้ามาทำงานแล้ว 1,668 คน และคาดว่าจะเข้ามาอีกราว 3,000 คน จังหวัดสระแก้วมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานแล้ว 50,000 – 60,000 คน และแรงงานกัมพูชาจะเข้ามาอีก ราว 80,000 คน จังหวัดตราดมีแรงงานกัมพูชาเข้ามาทำงานแล้ว 18,537 คน และจะเข้ามาอีก 9,000 คน จังหวัดสงขลามีความต้องการแรงงาน 3 สัญชาติประมาณ 10,000 – 15,000 คน จังหวัดหนองคายมีแรงงานลาวเข้ามาทำงานแล้ว 2,285 คน และจะเข้ามาอีก 1,000 คน จังหวัดกาญจนบุรีส่วนใหญ่เป็นแรงงานเมียนมาในเขตเศรษฐกิจพิเศษด่านบ้านพระเจดีย์เข้ามาทำงานแล้ว 5,000 คน เป็นต้น

กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์/

“กระทรวงแรงงาน บริการด้วยใจ เพื่อคนไทยมีงานทำ”

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


แท็ก รัฐมนตรี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ