วันนี้ (16 เม.ย.58) เวลา 09.00 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) โดยมี หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ซึ่งภายหลังการประชุม นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เผยถึงผลการประชุมว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ที่มีสัดส่วนรายได้ประมาณร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี โดยมีรายงานข้อมูลนักท่องเที่ยวช่วงวันที่ 1 มกราคม - 15 เมษายน 2558 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากจีน บวกกับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่สามารถส่งออกได้มากขึ้น รวมถึงการบริโภคของประชาชนในประเทศมีการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่การส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกแม้จะติดลบที่ร้อยละ 4 แต่มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านคือกัมพูชา ลาว เวียดนาม เมียนมา ยังขยายตัวได้ร้อยละ 7-10 ส่วนด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐได้เริ่มดำเนินการแล้ว ตั้งเป้าเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ร้อยละ 55 ของงบประมาณแผ่นดินภายในเดือนพฤษภาคมนี้ รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชนที่มีการลงทุนมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ลดลง ซึ่งทั้งหมดจะเป็นปัจจัยในการพยุงภาวะเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้นได้ พร้อมทั้งทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ร้อยละ 3 ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558
พร้อมกันนี้ ครม.เศรษฐกิจ รับทราบตัวเลขดุลการค้า ดุลบริการและดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาสแรกของปี แต่เนื่องจากการส่งออกยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยเฉพาะสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เศรษฐกิจยังชะลอตัว ทำให้การส่งออกไทยไปยังจีนลดลง และมีเพียงสหรัฐอเมริกาตลาดเดียวที่มีแนวโน้มดีขึ้น ส่งผลให้ดุลบัญชีเงินสะพัดของไทยช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เกินดุลประมาณ 6พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ดุลชำระเงินเกินดุล 2,889 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่รายได้การจัดเก็บภาษีสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นยอดรายได้จัดเก็บภาษีสะสม 5 เดือนของปีงบประมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญและเร่งรัดการเบิกจ่ายการลงทุนของภาครัฐ โดยกระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดติดตามโครงการก่อสร้างทางถนนและการบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิด อีกทั้งในช่วงครึ่งปีหลังจะเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟทางคู่อีก 6 เส้นทางที่คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลได้ในไตรมาส 2-3 นี้ ตลอดจนปรับปรุงสนามบินอู่ตะเภาเพื่อรองรับสายการบินเชิงพาณิชย์ และเร่งแก้ไขปัญหามาตรฐานทางสายการบินให้เป็นไปตามข้อบังคับของกรมการบินพลเรือนระหว่างประเทศ
ด้าน ร้อยเอก ยงยุทธ มัยลาภโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เศรษฐกิจได้พิจารณางบประมาณสำหรับงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ประจำปีงบประมาณ 2559 วงเงินรวม 165,095 ล้านบาทเศษ และเห็นชอบอัตราเหมาจ่ายรายหัวปี 2559 จำนวน 3,028.94 บาทโดยงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วงเงิน 163,152 ล้านบาทเศษ และงบบริหารจัดการ สปสช. วงเงิน 1,943 ล้านบาทเศษ สำหรับอัตราเหมาจ่ายรายหัวปี 2559 แยกเป็นค่าบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ วงเงิน 3,011 ล้านบาท ค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 6,318 ล้านบาทเศษ ค่าบริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง บริการควบคุมความรุนแรงในผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง และบริการผู้ป่วยจิตเวช 959 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยบริการ 1,490 ล้านบาทเศษ และค่าตอบแทนกำลังพล 3,000 ล้านบาท ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 600 ล้านบาท
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พร้อมกันนี้ ครม.เศรษฐกิจ รับทราบการพิจารณาร่วมกันระหว่าง สปสช. กับกระทรวงสาธารณสุข ในเรื่องสำคัญคือ การจัดกลไกในการบริหารจัดการงบประมาณของกองทุนให้มีความชัดเจน โปร่งใส รวมไปถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหากรณีสถานพยาบาลขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกลได้รับงบประมาณไม่เพียงพอที่จะให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะมีการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดารและเสี่ยงภัย จำนวน 137 แห่ง วงเงิน 866 ล้านบาทเศษ สำหรับ 1) Contracting Unit for Primary Care ที่มีลักษณะพิเศษคือที่โรงพยาบาลอุ้มผาง ใช้เกณฑ์การจัดสรรส่วนเพิ่มเท่ากับค่าใช้จ่ายจริง 2) หน่วยบริการพื้นที่เฉพาะระดับ 2 จำนวน 52 แห่ง เช่น ที่เกาะกูด เกาะช้าง หน่วยบริการที่อยู่ตามดอยต่าง ๆ ให้ได้รับส่วนเพิ่มอย่างน้อย 1 ล้านบาท 3) หน่วยบริการที่เหลืออีก 84 แห่ง ให้ทอนส่วนตามการจัดสรรงบประมาณส่วนที่เหลือ นอกจากนี้ มีการเพิ่มเติมงบประมาณเพื่อชดเชยค่าบริการที่ลดลงจากการเพิ่มเงินเดือนแบบก้าวกระโดดของพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีพยาบาล 3,000 อัตราตามนโยบายรัฐบาลที่ผ่านมา วงเงิน 624 ล้านบาทเศษ
พร้อมกันนี้ ครม. เศรษฐกิจได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สปสช. พิจารณาเรื่องบทบาทของ สปสช. ต่อจากนี้ไป ซึ่ง คตร. มีความเห็นว่าสมควรที่จะเร่งดำเนินการปรับปรุงกลไก ติดตามและกำกับดูแลให้การบริหารจัดการกองทุนมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ ทั้งนี้ งบประมาณที่รัฐบาลได้จัดสรรให้ในการบริหารด้านสาธารณสุข คือการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ให้โดยตรงแก่บุคคล โดยจัดสรรให้ในลักษณะเหมาจ่ายต่อหัวนั้น ที่ผ่านมา สปสช. ไม่ได้นำไปใช้บริการสาธารณสุขต่อประชาชนทั้งหมด แต่นำไปใช้จ่ายในเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น การก่อสร้าง ซ่อมแซมอาคาร ค่าตอบแทนบุคลากรเพิ่มเติม และสนับสนุนมูลนิธิต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งในหลักปฏิบัติแล้วต้องใช้จากงบบริหารจัดการ สปสช. หรือจากงบประมาณปกติของส่วนราชการ จึงควรพิจารณาเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการโดยตรงกับประชาชนเป็นหลัก สำหรับค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เห็นควรให้มีการทบทวนหลักเกณฑ์และระเบียบที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ พร้อมกับมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขไปพิจารณาให้ระบบหลักประกันสุขภาพ ระบบประกันสังคม และระบบการรักษาพยาบาลของข้าราชการ มีแนวทางในการจัดการองค์กรให้มีมาตรฐานสอดคล้องกัน ให้ดูระบบไอทีที่จะสามารถใช้ด้วยกันได้ รวมถึงให้ดูเรื่องความพอเพียงของการใช้งบประมาณในอนาคต และดูเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุจะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ครม.เศรษฐกิจได้พิจารณาเรื่องการให้สิทธิหรือคืนสิทธิพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิเพิ่มเติม และจัดการสถานะและสิทธิในบริการสาธารณสุขของบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ทั้งระบบ ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเดิมในปี 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการให้จัดสรรงบประมาณประจำปี 2553 งบกลาง กรอบวงเงิน 472 ล้านบาท ให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขจัดบริการขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้แก่บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ซึ่งได้มีการดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 ถึงปี 2557 ที่สามารถดำเนินการได้ 507,000 กว่าคน แต่การลงทะเบียนยังไม่ครอบคลุมบุคคลที่มีปัญหาสถานะ และสิทธิอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งขณะนั้นอยู่ระหว่างการสำรวจและการดำเนินการทางทะเบียน กระทรวงสาธารณสุขจึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้สิทธิหรือคืนสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิเพิ่มเติมในสองส่วนคือ 1. บุคคลที่มีปัญหาสถานะ สิทธิ ที่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย แล้ว รวมถึงบุตรของบุคคลดังกล่าว มีเลขประจำตัว 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 0 ซึ่งมีจำนวน 208,631 คน 2. เด็กและบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาของไทย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้สำรวจและดำเนินการให้สิทธิขั้นพื้นฐานทางการศึกษาแล้วตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2548 และกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำทะเบียนและกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก ซึ่งครอบคลุมบริการด้านการเสริมสร้างสุขภาพ การป้องกันโรค และการรักษาพยาบาล รวมจำนวน 76,540 คน โดย ครม.เศรษฐกิจวันนี้ได้เห็นชอบในกรอบดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการให้สถานะคนทั้งหมดรวม 285,171 คน ทั้งนี้ สำนักงบประมาณเห็นควรอนุมัติให้สิทธิดังกล่าวในเบื้องต้นจำนวน 206,748 คนก่อน ซึ่งเป็นคนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ รวมถึงบุตร ที่กระทรวงมหาดไทยได้ขึ้นทะเบียน และมีเลขประจำตัว 13 หลักเรียบร้อยแล้ว ส่วนกลุ่มบุคคลอื่นที่อ้างว่าเป็นคนสัญชาติไทย แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้เพราะขาดหลักฐาน จำนวน 1,883 คนให้ไปดำเนินการตรวจพิสูจน์ก่อน รวมถึงกลุ่มนักเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการได้ขึ้นทะเบียนดังกล่าวแล้ว 76,540 คน แต่ยังไม่มีชื่อในระบบทะเบียนราษฎร์ ยังไม่มีความชัดเจนถึงจำนวนที่แท้จริง และอาจจะมีความซ้ำซ้อนของข้อมูล เห็นควรให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประสานงานกับสำนักบริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย และสภาความมั่นคงแห่งชาติ ยืนยันความถูกต้องและรับรองการขึ้นทะเบียนของกลุ่มบุคคลดังกล่าวก่อน แล้วให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในโอกาสต่อไป
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th