รองโฆษกรัฐบาลเผยนายกรัฐมนตรีมอบ ก.ทรวงการคลังจัดทำรายละเอียดการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้สูงวัยรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น

ข่าวทั่วไป Monday April 20, 2015 12:05 —สำนักโฆษก

วันนี้ (20 เม.ย.58) เวลา 14.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมฯ ถึงเรื่องที่นายกรัฐมนตรีปรารภและสั่งการต่อที่ประชุมฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำ โดยขณะนี้ร่าง ฯ แรกได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนส่งให้ส่วนที่เกี่ยวข้องตรวจพิจารณาต่อไป ซึ่งในส่วนนี้มีคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะต้องรับผิดชอบด้วย เพราะฉะนั้นนายกรัฐมนตรี จึงได้สั่งการให้คณะรัฐมนตรีทุกคนไปพิจารณารายละเอียดร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้ครบทุกมาตรา โดยให้แนวทางและหลักการว่าให้พิจารณาในแต่ละเรื่องว่าสามารถแก้ไขปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวง ทบวง กรมนั้น ๆ ได้หรือไม่ รวมถึงเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนใหนเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการของแต่ละกระทรวงถือเป็นสิ่งที่ดี แต่จะต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจนว่าการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนเข้ามาในช่วงใดของการบริหารราชการแผ่นดินในแต่ละกระทรวง และจะสามารถทำให้การบริหารราชการเป็นไปได้อย่างแท้จริงหรือไม่ เพราะการใช้อำนาจในการบริหารเป็นสิ่งสำคัญ จึงมีความเป็นห่วงว่าการที่จัดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยที่ไม่กำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนอาจจะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินมีข้อขัดข้องได้ อย่างไรก็ตามยอมรับว่าการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนและวางแผนให้ดีว่าจะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแค่ไหน อย่างไร และตั้งแต่ขั้นตอนใด เป็นต้น

ขณะเดียวกันให้พิจารณาดูว่าประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรจากมาตราต่าง ๆ ของร่างรัฐธรรมนูญ โดยทั้งหมดนี้ให้แต่ละกระทรวงรวบรวมความคิดเห็นและเสนอคณะทำงานที่มีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นธาน ภายในวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 ก่อนจัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง ครม.กับคสช. ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 ซึ่งคาดว่าที่ประชุมจะมีการหยิบยกประเด็นเรื่องข้อคิดเห็นของแต่ละกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญมาหารือด้วย เพื่อจะได้ดำเนินการทำหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการต่อไป

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงข้อมูลผู้สูงอายุที่ผ่านมาของประเทศไทยว่า มีจำนวนมากขึ้น ซึ่งเงินที่จะช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุก็มาจากกองทุนช่วยเหลือผู้สูงอายุที่รัฐบาลมอบให้กับผู้สูงอายุเป็นรายเดือน ประมาณคนละ 500, 600 ,800 บาท ตามเงื่อนไขของแต่ละคน รวมทั้งกองทุนการออมแห่งชาติ แต่อย่างไรก็ตามทั้งหมดยังไม่เพียงพอเพราะในอนาคตประเทศไทยเราจะก้าวเข้าสู่ประเทศที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น เพราะฉะนั้น นายกรัฐมนตรี จึงได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมอบกระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลักไปพิจารณาและจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้สูงวัย โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้สูงวัยที่เป็นผู้ยากไร้ได้อย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันในเรื่องการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้สูงวัยที่ยากจนนั้นจะต้องมีมาตรการกำกับผู้สูงวัยที่จะเข้ามาอยู่ในกองทุนนี้ด้วย

ส่วนกรณีที่ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ดำเนินการตรวจสอบโครงการของรัฐบาลที่มีเงินงบประมาณมากกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไปนั้น วันนี้ พลเอกอนันตพรฯ ได้นำข้อมูลรายงานให้ที่ประชุมรับทราบ โดยเป็นข้อมูลเรื่องการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณพบว่า ขณะนี้โครงการที่มีวงเงินตั้งแต่ 50 ล้านบาท ได้ดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณแล้ว 29.08 เปอร์เซ็นต์ อยู่ระหว่างการทำสัญญาแล้ว 591 รายการ วงเงินประมาณ 71,081 ล้านบาท คิดเป็น 18.99 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่ยังไม่ได้ดำเนินการ 241 รายการ คิดเป็น 51.93 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ในส่วนที่ยังไม่ได้ดำเนินการ 51.93 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้หมายความว่าเกิดจากความล่าช้าแต่อย่าง

ใดเพียงแต่วงเงินทั้งหมดเป็นวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนทั้งปี เพราะฉะนั้นถือว่าในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่2 งบประมาณการลงทุนดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่ค้าง 51.93 เปอร์เซ็นต์ นั้นเป็นงบประมาณที่จะต้องดำเนินการในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ซึ่งได้มีการเร่งรัดดำเนินการแล้วและคาดการณ์ว่าในไตรมาสที่ 3 จะสามารถทำสัญญาได้อีกประมาณ 20 – 30 เปอร์เซ็นต์

อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามเกี่ยวกับกรณีที่มีการนำเสนอกฎหมายผังเมืองรวมซึ่งหลายจังหวัดได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม. พิจารณา โดยได้สอบถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยว่า ก่อนที่ คสช.และรัฐบาลชุดนี้จะเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ได้มีการออกกฎหมายผังเมืองรวมไปแล้วจำนวนเท่าไร ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ชี้แจงว่า ได้ดำเนินการไปทั้งสิ้น 19 จังหวัด ส่วนตั้งแต่ คสช.และรัฐบาลชุดนี้เข้ามาได้ดำเนินการเพิ่มอีกหลายจังหวัด และคาดว่าภายในสิ้นปี 2558 นี้จะดำเนินการเสร็จเรียบร้อยทั้งหมดใน 76 จังหวัด

นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐโดยทำให้มีความเหมาะสมเทียบเคียงกันในสัดส่วนเงินเดือนของข้าราชการทุกประเภททั้งระบบ ถึงแม้แต่เดิมจะมีคณะกรรมการเงินเดือนแห่งชาติ (กงช.) อยู่ แต่ กงช. จะพิจารณาได้เฉพาะเงินเดือนข้าราชการพลเรือนเท่านั้นไม่สามารถปรับระบบ ระเบียบเงินเดือนของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนได้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระก็ตาม ดังนั้น คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวที่ออกมาจะยังไม่ใช้ในรัฐบาลนี้ แต่จะเป็นการวางรากฐานไว้สำหรับรัฐบาลต่อไป

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้รับรายงานจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการตรวจสอบขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการแก้ไขเรื่องราวต่าง ๆ มาเป็นระยะ แต่เบื้องต้นยังไม่เป็นที่พึงพอใจของ ICAO นายกรัฐมนตรีจึงสั่งปรับวิธีการแก้ไขใหม่ ให้ดำเนินการเป็นช่วงระยะ คือ ระยะเร่งด่วน และระยะยาว อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีปัญหาหลายประการ เช่น ในปี 2548 มีสายการบินที่จดทะเบียนในประเทศไทย จำนวน 12 สายการบิน แต่ในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 61 สายการบิน และหยุดวิ่งไปแล้ว 20 สายการบิน เหลือประมาณ 41 สายการบิน จะเห็นว่ามาตรฐานที่ผ่านมาไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดอย่างแท้จริง ซึ่ง ICAO ก็มีความเป็นห่วงใยในหลายเรื่อง เช่น เรื่องการบันทุกสินค้าอันตราย การออกใบอนุญาต AOC เกี่ยวกับการออกคู่มือที่กำหนดมาตรฐานการบิน การอบรมเจ้าหน้าที่ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการบริหารจัดการบินให้มีความรู้ความสามารถ ทั้งนี้ได้มีการปรับแก้ไขทั้งในระบบของระดับกรมการบินพลเรือน ระดับกระทรวง และระดับรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาดำเนินการในเรื่องที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการก่อนในระยะเด่งด่วน ส่วนเรื่องใดที่จะต้องมีการปรับองค์กร แก้ไขข้อกฎหมาย ตลอดจนข้อห่วงใย 560 ข้อของ ICAO ก็ให้ดำเนินการระยะยาว ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะเป็นผู้ไปชี้แจงกับ ICAO ในวันที่ 15 มิถุนายน 2558 เพื่อให้เห็นถึงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวของรัฐบาลไทยว่ามีมาตรการในการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นระบบ โดยคาดว่าในการชี้แจ้งในวันที่ 15 มิถุนายน 2558 นี้จะสามารถทำให้มาตรการที่มีอยู่ได้รับการยอมรับจาก ICAO

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ