พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็น ประธานการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และแรงงานต่างด้าว ครั้งที่1/2558 ว่า การแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์เป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ดังนั้นทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันทำงาน ไม่สามารถทำงานเท่าเดิมได้ ทุกกระทรวงทบวงกรมต้องทำงานอย่างเต็มที่ ภาคเอกชนและสังคมอื่นๆ ต้องร่วมมือกัน และภาคประชาชนต้องตื่นตัวและปฏิเสธการค้ามนุษย์ มีความเข้าใจ รู้ว่าการค้ามนุษย์เป็นอันตรายต่อมวลมนุษยชาติ สำหรับภาคสื่อมวลชนต้องให้ความร่วมมือและสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน การประกาศเป็นวาระแห่งชาติต้องต่างจากเดิม เพราะถ้าทำเท่าเดิมจะไม่หลุดพ้นเทียร์ 3
รมว.แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า เราต้องทำอย่างจริงจังในทุกเรื่อง ทุกคนต้องแม่นยำต่อแนวนโยบาย ทุกคนต้องเข้าใจตรงกัน ปรับกฎหมายให้ทันสมัย และทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานร่วมกัน การบังคับใช้กฎหมายต้องทำพร้อมๆกัน การไปตรวจเรือ Port in-Port out ทุกหน่วยต้องไปพร้อมกัน ไม่ควรไปคนละครั้ง ต้องเร่งแก้ปัญหาหลักอย่างจริงจัง ต้องทำงานเพื่อเข้าสู่เป้าหมายหลักให้ได้ เช่น การติดระบบติดตามเรือ (Vessel Monitoring System; VMS) การออกพระราชบัญญัติประมง จะทำให้มาตรการมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น การติดตามการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ ทาง กอ.รมน.ได้มีการติดตามอยู่ ซึ่งเชื่อว่าการกระทำผิดน่าจะลดลงได้
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลให้ความสำคัญในการดำเนินนโยบายป้องกันและปราบปรามปัญหาค้ามนุษย์ไม่ใช่เพียงเพื่อการปลดล็อคจากเทียร์ 3 หรือ แก้ข้อกล่าวหา IUU (Illegal, unreported and unregulated fishing) เท่านั้น แต่ต้องการแก้ปัญหาระดับโครงสร้างซึ่งเป็นปัญหาของประเทศมานานแล้ว กระทรวงแรงงานจึงมุ่งมั่นปฏิบัติงานให้พ้นสภาพปัญหาเหล่านี้ เพื่อเข้าสู่มาตรฐานสากล ส่วนการแก้ไขกฎหมายให้เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติงาน กระทรวงแรงงานได้ผลักดันการออกกฎหมาย จำนวน 2 ฉบับ คือ ออกกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2557 สาระสำคัญ กำหนดอายุขั้นต่ำที่นายจ้างจะจ้างทำงานประมงทะเลได้ต้องไม่ต่ำกว่า 18 ปี , ให้จัดทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือ และกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรม พ.ศ. 2557 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2557 สาระสำคัญ กำหนดให้นายจ้างลูกจ้างเข้าทำงานในงานเกษตรกรรมต้องมีอายุตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไป สามารถใช้เป็นมาตรการด้านกฎหมายที่สำคัญในการช่วยป้องกันและปราบปรามปัญหาค้ามนุษย์ด้านแรงงาน สำหรับแนวการปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเนื่องจากมีกฎหมายเฉพาะของหน่วยงาน ดังนั้นจึงต้องทำงานร่วมกัน ในรูปแบบคณะอนุกรรมการฯ ที่มาประชุมเพื่อทำงานช่วยเหลือและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน เกิดการบรูณาการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ จะสื่อให้สังคมโลกเข้าใจการทำงานของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และแรงงานต่างด้าว ครั้งที่1/2558 มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กองทัพเรือ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมประมง กรมเจ้าท่า กองบังคับการตำรวจน้ำ กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น
กระทรวงแรงงาน “บริการด้วยใจ เพื่อคนไทยมีงานทำ”
ที่มา: http://www.thaigov.go.th