พลตำรวจเอก อดุลย์ เปิดเผยว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นกระทรวง ภาคสังคมในการทำหน้าที่เป็นองค์การและกลไกสำคัญด้านสังคมในการพัฒนาสังคม การสร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาคในสังคม การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพ และความมั่นคงในชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน สตรี ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถบรรลุนโยบายของรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ นำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมไทยอย่างยั่งยืน โดยผลการดำเนินงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีผลงานสำคัญ ในรอบ ๖ เดือน (๑๒ ก.ย.๒๕๕๗–๓๑ มีนาคม ๒๕๕๘)ดังนี้ ๑)การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ๒)การแก้ไขปัญหาการขอทานทั่วประเทศ ๓)การพัฒนา ปรับปรุง และแก้ไขกฎหมายด้านสังคม ๔)การช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาสังคมอย่างครอบคลุมทุกประเด็นปัญหา ๕)การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ๖)การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ๗)การเสริมพลังสตรีด้วยความเสมอภาคหญิงชาย ลดความรุนแรงทางเพศ และสร้างครอบครัวอบอุ่น ๘)การพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนสร้างสรรค์สังคมเข้มแข็ง ๙)การพัฒนาและสร้างความมั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัย และ ๑๐)การพัฒนาบุคลากร
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ขับเคลื่อนงานต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ที่ได้ดำเนินการเชิงรุกมาอย่างต่อเนื่อง และกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก (ศสด.)เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อน ผลักดันเร่งรัด ติดตาม เฝ้าระวัง รวบรวมข้อมูล และรายงานผลการดำเนินการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ทำงานบูรณาการ ตามหลักมาตรฐานสากล ๕P คือ ๑)Policy and Mechanism ด้านนโยบายและกลไกการขับเคลื่อนไปสู่ภาคปฏิบัติ ๒)Prosecution ด้านการดำเนินคดีและการบังคับใช้กฎหมาย ๓)Protection ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ ๔)Prevention ด้านการป้องกัน และ ๕)Partnership and International Cooperation ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนและความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยตัวอย่างการทำงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เชิงรุกและบูรณาการ จะเห็นชัดเจนและเป็นรูปธรรม ประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันรวดเร็ว จากกรณีการจัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยที่ตกค้างที่เกาะอัมบน และเกาะเบนจิน่า และสามารถช่วยเหลือนำลูกเรือประมงไทยกลับมาประเทศไทยได้ จำนวน ๖๘ คน เมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๘
"ขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ช่วยประชาสัมพันธ์ช่องทางการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาทางสังคม สามารถขอความช่วยเหลือมาที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC โทร ๑๓๐๐ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย
ที่มา: http://www.thaigov.go.th