ในโอกาสนี้ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้แถลงผลงานสำคัญตามที่รัฐบาล ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการ ดังนี้ 1. การน้อมเกล้าฯ ถวายพลับพลาเขาดอกไม้ ในพื้นที่โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี โดยกระทรวงมหาดไทยได้ออกแบบและก่อสร้างเรือนที่ประทับฯ เพื่อทรงใช้เป็นที่ประทับทรงงาน โดยได้ส่งมอบพื้นที่ให้สำนักพระราชวัง เมื่อวันที่ 8มกราคม 2558 2. การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ได้กำหนด 7 มาตรการเข้ม เพื่อป้องกัน สกัดกั้น ปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยให้ทุกจังหวัด อำเภอจัดชุดสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดเพื่อสกัดกั้นการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำทะเบียนแรงงานทุกกลุ่ม 3. การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ปรับการปฏิบัติงานในพื้นที่ เน้นหนักไปที่การวางกองกำลังในพื้นที่ “ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ 37 อำเภอ” โดยมีนายอำเภอเป็นหลัก ร่วมกับฝ่ายทหารและตำรวจ เพื่อดูแลความปลอดภัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน โดยน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาเป็นหลักในการพัฒนาในพื้นที่ ด้านการดูแลความปลอดภัยได้สั่งเพิ่มกำลังพลสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) จัดตั้งกองกำลังประจำถิ่น จัดตั้งศูนย์วิทยุระดับตำบลของแผนยุทธการ “ทุ่งยางแดงโมเดล” ทุกหมู่บ้าน 4. การจัดสรรที่ดินทำกินเพื่อประชาชน สร้างคน สร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อให้ประชาชนมีที่ดินทำกินเป็นของตนเองภายใต้โครงการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์ที่มีการบุกรุกเพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาชนบท โดยจัดที่ดินทำกินให้ประชาชนไปแล้ว จำนวน 3,830 แปลง และมอบโฉนดผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการ “มอบโฉนดที่ดิน 60 พรรษา 60 ร้อยแปลง” โครงการ “มอบโฉนดที่ดิน ทั่วไทย รวดเร็วทันใจ โปร่งใสเป็นธรรม ไปแล้วกว่า 5 หมื่นแปลง 5. การเตรียมพื้นที่รองรับการพัฒนาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยจัดผังพื้นที่เฉพาะและการจัดเตรียมผังพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้วเสร็จ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว มุกดาหาร ตาก ตราด สงขลา และจังหวัดหนองคาย
6. ด้านการปฏิรูป การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ กระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปใน 76 จังหวัด 878 อำเภอ 7,852 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการชี้แจงทำความเข้าใจ ปลูกฝังสำนึกรักสามัคคีและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ ที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความสามัคคีและกิจกรรมเพื่อสร้างบรรยากาศความปรองดองสมานฉันท์ในรูปแบบต่างๆ ไปแล้วกว่า 9 หมื่นครั้ง มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 11 ล้านคน และ 7. การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคไฟฟ้าประปาเพื่อประชาชน โดยหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทยได้พัฒนางานบริการที่ดีสู่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น การพัฒนาคุณภาพน้ำประปา การดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้ผู้มีรายได้น้อย และการขยายระบบไฟฟ้าประปาเพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีผลการดำเนินงาน ดังนี้ การไฟฟ้านครหลวง ติดตั้งโคมไฟฟ้าสาธารณะชนิด LED เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนบนถนน 12 สาย ในกรุงเทพมหานครและสถานที่ท่องเที่ยว แหล่งชุมชนต่างๆ การเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน สร้างความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมที่ดี ทัศนียภาพที่สวยงามให้กับบ้านเมือง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้ขยายพื้นที่ให้บริการไฟฟ้าให้แก่บ้านเรือนประชาชนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ในไตรมาส 2 ดำเนินการไปแล้ว 30,154 ครัวเรือน และมีแผนขยายเขตไฟฟ้า จำนวน61,271 ครัวเรือน ภายในเดือนธันวาคม 2558 การพัฒนาโครงการไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาบริหารจัดการ ควบคุมการผลิต ส่ง และจ่ายพลังงานไฟฟ้า ซึ่งได้นำร่องในพื้นที่เมืองพัทยา การประปานครหลวง ลดค่าติดตั้งประปาใหม่ 10% พร้อมสิทธิผ่อนผันชำระค่าติดตั้งประปาใหม่ 1 ปีไม่มีดอกเบี้ย เพื่อลดค่าครองชีพให้กับประชาชน และตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน นี้ ได้งดเว้นการเก็บค่าน้ำขั้นต่ำแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ใช้น้ำต่ำกว่า 5 หน่วย/เดือน คิดเป็นผู้ใช้น้ำที่ได้รับประโยชน์ ประมาณ 2.6 แสนราย การประปาส่วนภูมิภาคได้ขยายเขตบริการน้ำประปาแก่ประชาชนที่เป็นผู้ใช้น้ำรายใหม่ จำนวน 241,399 ครัวเรือน และองค์การตลาดซึ่งได้มีการพัฒนาและการปรับบทบาทด้านการกำกับดูแลตลาดสด เพื่อตรวจสอบและรับรองมาตรฐานตลาดสดทั่วประเทศให้เข้าสู่มาตรฐานเดียวกัน
ต่อจากนั้น นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมแถลงผลงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1. การก่อสร้างห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ด้วยตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อมอบให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาจังหวัดๆ ละ 1 แห่ง รวมจำนวน 76 แห่ง ทั่วประเทศ ให้เด็กและเยาวชน ประชาชนทั่วไปได้ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลให้ได้มีโอกาสเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัยได้มากยิ่งขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 2. การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เน้นดำเนินการ 3 ด้าน คือ การป้องกันโดยเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน 2,978 หมู่บ้าน/ชุมชนที่มีปัญหายาเสพติดรุนแรง การบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดดำเนินการแล้ว จำนวน 37,370 คน และติดตามผู้ผ่านการบำบัดแล้ว จำนวน 117,161 คน รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือ ผู้ผ่านการบำบัดด้านอาชีพ จัดหางาน การศึกษา เป็นต้น และการปราบปราม สามารถจับกุมคดียาเสพติด จำนวน 2,774 คดี รวมผู้ต้องหา 3,187 คน 3.การติดตั้งไฟสาธารณะในจุดที่มีความเสี่ยงและการเชื่อมเข้ากับระบบไฟกล้องโทรทัศน์วงจรปิด CCTV โดยได้ติดตั้งและเปลี่ยนดวงโคมไฟส่องสว่างบริเวณท่าเรือและการติดตั้งไฟส่องสว่างเพิ่มเติมในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดเพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน 4. การแก้ไขปัญหาภัยแล้งเชิงรุก ด้านการป้องกันปัญหาได้สำรวจหมู่บ้านและตำบลรวมถึงพื้นที่การเกษตรที่อาจได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และชี้แจงข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนเกิดความเข้าใจต่อสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น และแก้ไขปัญหาเชิงรุกโดยสนับสนุนการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน เครื่องจักรกลสาธารณภัย และแจกจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนได้มีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอ และ 5. การพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อพัฒนา New Landmark of Thailand เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์เป็นสถานที่พักผ่อน นันทนาการ เข้าถึงแหล่งชมทัศนียภาพได้อย่างเท่าเทียมมีสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดี 6. จัดตลาดนัดชุมชน ไทยช่วยไทย คนไทยยิ้มได้ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีจำนวน 2,102 แห่ง ผู้ร่วมจำหน่ายสินค้า จำนวน 83,224 ราย มีเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ จำนวน 796,979,119 บาท
จากนั้น นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้แถลงถึงผลงานสำคัญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของหน่วยงานในสังกัด ดังนี้ 1. การขับเคลื่อนโครงการพระราชดำริและการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการพัฒนาพื้นที่เป้าหมาย 24,194 หมู่บ้านใน 76 จังหวัด และการส่งเสริมหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ 2.การสร้างความโปร่งใส “มหาดไทย ใสสะอาด” โดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตกระทรวงมหาดไทย (ศปท.มท.) เพื่อบูรณาการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างต่อเนื่อง จริงจัง 3. การเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใส ในการใช้จ่ายงบประมาณท้องถิ่นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชาติ โดยผลของการดำเนินโครงการดังกล่าวทำให้ผลการเบิกจ่ายและการก่อหนี้ผูกพันของงบประมาณเงินอุดหนุนที่เป็นรายจ่ายลงทุน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสแรกอย่างมีนัยสำคัญ ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2558 ก่อหนี้ผูกพันแล้วทั้งสิ้น 25,671.3849 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 80และเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 6,451.5149 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 ของรายจ่ายลงทุนทั้งหมด 4. ศูนย์ดำรงธรรม ได้เพิ่มช่องทางการรับแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านแอปพลิเคชัน Spond สามารถใช้ได้กับโทรศัพท์ Smart Phone รวมทั้งได้กำหนดแผนพัฒนาระบบให้บริการ/เพิ่มประสิทธิภาพทีมงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด/อำเภอ/ส่วนกลางเพื่อรองรับการให้บริการได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยตั้งแต่ 18 กรกฎาคม 2557 – 20 เมษายน 2558 มีเรื่องติดต่อ/เรื่องร้องเรียน เข้ามาทั้งหมด จำนวน 942,875 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 900,520 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 95.51 5. โครงการนำร่องเพื่อแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ขนย้ายขยะมูลฝอยจากตำบลบ้านป้อมไปยังสถานที่ฝังกลบขยะมูลฝอยตำบลมหาพราหมณ์ จำนวน 223,865 ตัน ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2558 และได้ดำเนินการศึกษาออกแบบและก่อสร้างโครงการไฟฟ้าจากขยะเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ประมาณเดือนพฤษภาคม 2558 นอกจากนี้ ยังได้จัดทำแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งโรงกำจัดขยะมูลฝอยในภาพรวมของประเทศ 6. ได้เสนอเรื่องการบูรณาการแผนงาน/โครงการในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ในระดับพื้นที่ (Area Based) เพื่อบูรณาการแผนงานโครงการของภาครัฐ งบส่วนราชการ กลุ่มจังหวัด และจังหวัดที่จะลงไปสู่พื้นที่ให้มีความเหมาะสมตรงกับความต้องการของประชาชน ไม่เกิดความซ้ำซ้อน 7. การประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นกรณีศึกษา และเป็นแนวทางการพัฒนาเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อตอบสนองงานของรัฐบาลให้สัมฤทธิ์ผล 8. การแจ้งเตือนสู่ประชาชน เพื่อเตรียมพร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้ประชาชนมีความปลอดภัยจากการเกิดสาธารณภัยมากขึ้น ลดการสูญเสีย ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งการเตรียมพร้อมรับมือจากภัยสึนามิ 9. การส่งเสริมสินค้าและการพัฒนาคุณภาพสินค้า OTOP เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชน โดยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ส่งเสริมการดำเนินงานเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ มุ่งเน้นการพัฒนาช่องทางการตลาดเชิงรุกในทุกรูปแบบ รวมทั้งการเชื่อมโยงสินค้าของชุมชนสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ
สุดท้าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งหมดนี้เป็นภารกิจที่ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมแรงร่วมใจดำเนินการอย่างมุ่งมั่น พร้อมเพรียง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา โดยน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้เป็นแนวทางการดำเนินงาน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และสร้างความยั่งยืนให้ประเทศชาติต่อไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th