ก.อุตฯ โชว์ผลงานรอบ 6 เดือน ไฟเขียวใบอนุญาตรวมกว่า 6 พันใบ แย้ม 5 โปรเจกซ์ยักษ์พัฒนาอุตฯไทยรุกตลาดเออีซี

ข่าวทั่วไป Wednesday April 22, 2015 15:41 —สำนักโฆษก

“จักรมณฑ์”แถลงผลงานกระทรวงฯรอบ 6 เดือนกระตุ้นเศรษฐกิจ ไฟเขียวใบอนุญาต 6,000 ฉบับ ลงทุนสะพัด 5.7 แสนล้านบาท จ้างงานใหม่ 1 แสนคน ฟื้นโครงการเหมืองโพแทชสำเร็จ หลังยืดเยื้อกว่า 30 ปี จ่อสำรวจอีก 30 แปลง พร้อมเปิดเผย 5 โครงการใหญ่กระตุ้นอุตสาหกรรมทุกระดับ ผุดศูนย์ทดสอบยางล้อฯ มาตรฐาน R117 – ปรับ มอก.สู่มาตรฐานอาเซียน –ปั้น SMEs Digital สามพันราย- ติดGPS รถขนกากทุกคัน- เตรียมจัดงาน Thailand Expo 2015 ในเดือนกันยายนนี้

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เป็นเวลา 6 เดือนแล้วที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศ พร้อมปฏิรูปประเทศในทุกด้านหลากหลายมิติ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล โดยมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) พร้อมกับการสร้างรากฐานระยะยาวเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างยั่งยืน

“ตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา (12 กันยายน 2557 – 12 มีนาคม 2558) หน่วยงานอนุญาตต่างๆ ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ปรับปรุงเพื่อลดขั้นตอนและเวลาการพิจารณาอนุญาตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เช่น การขอใบอนุญาตการประกอบ/ขยายการประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) จากเดิมที่ใช้เวลาการพิจารณา 90 วันทำการ ลดลงเหลือ 30 วันทำการ กระทรวงฯมีการอนุญาตประกอบกิจการใหม่ และขยายโรงงานรวมทั้งสิ้น 2,528 ราย เกิดการลงทุน 228,900 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 92,938 คน

การพิจารณาขออนุญาตประทานบัตรและอาชญาบัตรสำหรับผู้ประกอบการเหมืองแร่ลดลงเหลือ 45 วันทำการ มีการออกใบอนุญาตประทานบัตร/ต่ออายุประทานบัตร/อาชญาบัตร/อาชญาบัตรพิเศษ/โอนประทานบัตรแล้ว จำนวน 188 แปลง มูลค่าแหล่งแร่ 238,541 ล้านบาท เกิดการลงทุนมูลค่า 43,646 ล้านบาท และเกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 467,044 ล้านบาท

การพิจารณาอนุญาตออกใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จากเดิม 46 วันทำการ ลดลงเหลือ 26 วันทำการ มีการออกใบอนุญาต มอก. จำนวน 2,873 ฉบับ ซึ่งนอกจากจะเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นใจในคุณภาพสินค้าไทย ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในตลาดภายในและตลาดสากล

สำหรับการอนุญาตในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมนั้น ได้มีการอนุญาตใช้ที่ดิน 134 คำขอ แจ้งเริ่มประกอบกิจการ 215 คำขอ เงินลงทุน 219,900 ล้านบาท จ้างคนงาน 3,225 คน และอนุญาตขยายโรงงาน 65 คำขอ เงินลงทุน 78,620 ล้านบาท จ้างคนงาน 3,923 คน

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้จัดทำคู่มือบริการประชาชนเกี่ยวกับการพิจารณาอนุญาตต่างๆ รวมทั้งสิ้น 177 กระบวนงาน ซึ่งสอดคล้องตาม พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 แนวทางดำเนินการดังกล่าว ซึ่งกระทรวงฯได้ทำไปก่อนหน้าแล้วจนเป็นที่พอใจของภาคเอกชน และล่าสุดได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานนำร่อง ในกระบวนงานการพิจารณาออกใบ รง.4 ก่อนประกาศใช้ในเดือนพฤษภาคมนี้” นายจักรมณฑ์ กล่าว

ส่วนปัญหาเรื่องขยะที่รัฐบาลได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรมดูแลเรื่องกากอุตสาหกรรมมีเป้าหมายนำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบการกำจัดกากอย่างถูกต้อง ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การจัดการกากอุตสาหกรรมในระยะ 5 ปี (พ.ศ.2558-2562) ได้กำหนดให้โรงงานจำพวกที่ 3 ประมาณ 68,000 ราย เข้าสู่ระบบไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ซึ่งตามแผนงานมีการปรับแก้กฎหมายเพิ่มบทลงโทษผู้ลักลอบทิ้งขยะจากเดิมปรับสูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาท อายุความ 1 ปี ไม่มีโทษจำคุก เป็นเพิ่มโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 2 แสนบาท และให้คดีความมีอายุความ 10 ปี เพื่อมีเวลาในการสืบหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ

ขณะเดียวกัน กระทรวงฯยังได้ปรับปรุงกฎหมาย เพื่อช่วยลดต้นทุนและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ที่สำคัญคือ แก้ไข พ.ร.บ.จดทะเบียนเครื่องจักร ฉบับที่….พ.ศ…..โดยในช่วงที่ผ่านมา มีผู้ขอจดทะเบียนเครื่องจักรมากกว่า 5,000 ราย มีการจำนองเครื่องจักรเป็นวงเงินกว่า 23,000 ล้านบาท หากการจดทะเบียนเครื่องจักรทำได้รวดเร็วขึ้น จะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจมีการหมุนเวียนจากการใช้เครื่องจักรเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินมีความคล่องตัวมากขึ้น โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการมาขอจดทะเบียนเครื่องจักรเป็นทุนกับ กรอ. จำนวน 800,000 เครื่อง คิดเป็นร้อยละ 8 ของจำนวนเครื่องจักรในประเทศ ซึ่งหากโรงงานต่างๆนำเครื่องจักรไปจดทะเบียนครบทั้งหมดประมาณ 10 ล้านเครื่อง จะมีมูลค่าที่สามารถนำไปจำนองกับสถาบันการเงินได้ถึง 50 ล้านล้านบาท และ พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศใช้และประชาสัมพันธ์อย่างแพร่หลายจะทำให้ผู้ประกอบการมีแหล่งเงินทุนมากขึ้น

สำหรับผลงานสำคัญที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ผลักดัน ได้แก่ การออกใบอนุญาตประทานบัตรการทำเหมืองแร่โพแทชแก่บริษัท โปแตชอาเซียน จำกัด(มหาชน) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ในพื้นที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ มูลค่าการลงทุนทำเหมืองประมาณ 40,000 ล้านบาท มูลค่าแหล่งแร่ 212,015 ล้านบาท ทำให้ประเทศไทยไม่ต้องนำเข้าปุ๋ยโพแทช คิดเป็นมูลค่าที่ประหยัดได้กว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี และเกษตรจะได้ใช้ปุ๋ยในราคาที่ถูกลง 10-15% ทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในชุมชน และภาครัฐได้รับผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษประมาณ 3,700 ล้านบาท โดยมีกองทุนต่างๆช่วยดูแลประชาชนและพัฒนาท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ เพื่อสำรวจแร่โพแทชจำนวน 31 แปลง คิดเป็นมูลค่าการลงทุนสำรวจแร่ประมาณกว่า 600 ล้านบาท

รวมทั้งการช่วยแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำผ่านโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง 10,000 ล้านบาท โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 และโครงสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางเพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักร 15,000 ล้านบาท ซึ่งมีผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง ยื่นขอรับการกู้เงินกับธนาคารออมสิน จำนวน 19 ราย วงเงิน 20,000 ล้านบาท

ตลอดจนการลงนามร่วมกับบริษัท Rubber Valley Group จำกัด สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนจีนในนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมือง และนิคมอุตสาหกรรมเมืองยาง จังหวัดระยอง รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมเมืองยาง (Rubber City) ในจังหวัดสงขลา ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดโครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2558 และเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนตุลาคม 2558 โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2560 เพื่อสนับสนุนการแปรรูปยางพารา เป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและมีมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้น

สำหรับความร่วมมือกับต่างประเทศที่สำคัญ กระทรวงฯ ได้เปิดโต๊ะญี่ปุ่น (Japan Desk) ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ได้มีการลงนามความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม และ SMEs กับรัฐบาลญี่ปุ่นแล้ว 5 จังหวัด โดยสร้างความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี การค้า การลงทุน ระหว่างผู้ประกอบการสองประเทศไปแล้ว 6 กรณี พร้อมกับลงนามความร่วมมือพัฒนาระบบเตาเผาของเสียชุมชนและอุตสาหกรรม ขนาด 500 ตันต่อวัน มูลค่า 1,800 ล้านบาท ร่วมกับองค์การพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (Nedo) และกระทรวงเศรษฐกิจ พาณิชย์และอุตสาหกรรม แห่งประเทศญี่ปุ่น(METI)

ทั้งนี้ ผลงานที่สำคัญในรอบ 6 เดือนของกระทรวงอุตสาหกรรม แบ่งเป็น 9 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย 1) อำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการ 2) พัฒนาอุตสาหกรรมกับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม เน้นในเรื่องการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม และการผลักดันเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 3) ส่งเสริมและพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม ที่มุ่งเน้นคืออุตสาหกรรมอาหารฮาลาล อุตสาหกรรมแฟชั่น เจาะกลุ่มตลาดอาเซียน และพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถใช้ประโยชน์จากภาคเศรษฐกิจดิจิทัล 4) พัฒนาภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการเข้าสู่ AEC ที่ผ่านมาอยู่ระหว่างการศึกษาหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดตาก สระแก้ว ตราด มุกดาหาร และสงขลา 5) พัฒนาความร่วมมือกับต่างประเทศ 6) การแก้ไขปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนภาคใต้ 7) การผลักดันภารกิจที่สำคัญของกระทรวงฯ 8) เร่งขยายผลตามโครงการพระราชดำริ และ9) การสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน

สำหรับแผนการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรมในอีก 6 เดือนข้างหน้า คือ 1.การจัดตั้งศูนย์ทดสอบยางล้อและสนามทดสอบ ณ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งจะเป็นศูนย์ทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยางล้อรวมถึงชิ้นส่วนยานยนต์ครบวงจรแห่งแรกในอาเซียน ใช้พื้นที่รวม 200 ไร่ งบประมาณ 2,850 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี พ.ศ.2558–2562 โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ เฟสแรก จะเร่งรัดการจัดตั้งศูนย์ทดสอบกลาง เพื่อทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยางล้อตามมาตรฐาน UN Regulation No117 เพื่อการเป็นผู้นำของอาเซียนเนื่องจากไทยเป็นผู้ส่งออกยางล้อ ปีละ 100,000 -120,000 ล้านบาท และจะช่วยกระตุ้นการใช้ยางพาราในประเทศจากร้อยละ 12.5 เป็นร้อยละ 20 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 150,000 ตัน

2.การปรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพื่อรองรับมาตรฐานอาเซียน เนื่องจากมาตรฐานในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน อาเซียนจึงได้มีมาตรฐานกลางในสินค้ารายการที่สำคัญที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันมาก กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ปรับมาตรฐานให้สอดคล้องไปแล้วจำนวน 38 มาตรฐาน และอยู่ระหว่างการปรับเพิ่มเติมอีก 57 มาตรฐาน และการดำเนินงานระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ (National Single window : NSW) ซึ่งได้จัดทำพิกัดอัตราภาษีศุลกากร จำนวน 100 มาตรฐาน ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 3 มาตรฐาน การประกาศกฎระเบียบการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการนำเข้า การส่งออก การนำผ่าน และโลจิสติกส์ จำนวน 1 ฉบับ และพัฒนาระบบ NSW เพื่อรองรับจำนวน 1 ระบบ

3.การเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการสู่ AEC โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจดิจิทัล จากที่กระทรวงอุตสาหกรรมนำร่องในการพัฒนาผู้ประกอบการโดยใช้ IT มาช่วยดำเนินธุรกิจ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผลการศึกษาปรากฏชัดว่า สามารถลดของเสีย (defect) ลงร้อยละ 9 ส่งผลให้ต้นทุนลดลง ร้อยละ 6 และยอดขายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9 จึงมีโครงการดังนี้ 1) การเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ด้านดิจิทัล โดยการให้ความรู้และเตรียมความพร้อมแก่ผู้ประกอบการธุรกิจ IT ซึ่งมีเป้าหมายรวม 1,500 ราย 2) เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อ SMEs โดยการพัฒนาและส่งเสริมให้ SMEs ใช้ระบบไอทีในธุรกิจอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตภาพ เป้าหมาย 580 ราย 3) ดิจิทัลเพื่อวิสาหกิจชุมชน ส่งเสริมให้กลุ่มผู้ผลิตสินค้า OTOP ที่มีศักยภาพสามารถทำการตลาดด้วยสื่อดิจิทัล และสื่อออนไลน์ เป้าหมาย 720 ราย

4.เตรียมจัดงาน Thailand Expo 2015 โดยกระทรวงฯ มีแนวคิดจัดงาน Thailand Industry Expo 2015 หรือ มหกรรมซื้อของไทย ใช้ของดี ในช่วงเดือนกันยายน 2558 ณ Impact Challenger บนเนื้อที่ 60,000 ตารางเมตร เพื่อแสดงศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยทุกระดับ ดังนั้น ขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมแสดงสินค้าในงานดังกล่าวได้ โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานไม่น้อยกว่า 250,000 คน สามารถทำยอดขายได้ไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท

5.การบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม โดยกระทรวงฯ ได้ตั้งเป้าหมายจัดการให้กากอุตสาหกรรม เข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นจาก 1.03 ล้านตัน เป็น 1.2-1.5 ล้านตัน จากปริมาณกากอุตสาหกรรมอันตรายในประเทศ โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะบังคับให้รถขนส่งกากอุตสาหกรรมทุกคันต้องติดตั้งระบบติดตามยานพาหนะ โดยใช้เทคโนโลยีผ่านสัญญาณดาวเทียม (GPS) ให้แล้วเสร็จภายใน 30 กันยายนนี้ เพื่อให้ผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรมและผู้รับกำจัดสามารถตรวจสอบการขนส่งจากต้นทางไปยังปลายทางได้ป้องกันการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมได้

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ